รมว.คลัง ขอเน้นเศรษฐกิจโตช้าแต่มั่นคงท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวในงาน “ถามมา…ตอบไป เพื่อประเทศที่ดีกว่า” หัวข้อ “มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย” ว่า ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจระบบเปิด ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกประสบปัญหาและส่งผลกระทบไปยังประเทศต่างๆ จึงปฏิเสธไม่ได้ที่เศรษฐกิจไทยต้องได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ทั้งด้านการค้า การลงทุน รวมทั้งการเงิน ที่ต่างมีความเชื่อมโยงกันหมด

อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นร่วมกันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดี รัฐบาลได้มีการออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านต่างๆ สร้างดีมานด์ในประเทศ เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดขึ้น จึงทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยไม่ได้รุนแรงมากอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

รมว.คลัง กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 นโยบายการคลังกับนโยบายการเงินต้องสอดประสานกัน นโยบายการเงินก็ต้องดูในเรื่องต้นทุนการเงิน การพักชำระหนี้ การเติมเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ส่วนนโยบายการคลัง ก็ต้องมีมาตรการเยียวยา เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน, เราชนะ, คนละครึ่ง ซึ่งเป็นต้นทุนของรัฐบาลที่ไม่มีใครสามารถแบกรับแทนได้ ทำให้จำเป็นต้องมีการกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกดำเนินการในการใช้นโยบายการคลัง ดูแลภาคประชาชน ธุรกิจ ซึ่งต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเหมือนกันหมด และไทยเองก็ไม่ได้สูงที่สุด

เมื่อมองไปข้างหน้า ยังมีต้นทุนอีกอย่างที่เข้ามาผ่านการเติมสินเชื่อเข้าระบบ และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ทั้งธนาคารเอกชนและธนาคารของรัฐ แต่กรณีธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะได้เปรียบ เพราะรัฐบาลเข้าไปชดเชยให้ในกรณีหนี้เสีย 30-40% และก็มีการยกเว้นภาษีให้ในช่วงเวลา 2 ปี ดังนั้น รัฐบาลจะมีต้นทุนในการดูแลประชาชนและธุรกิจรวม 1.5 ล้านล้านบาท และในส่วนที่ลดภาษีให้ ไม่ใช่เฉพาะต้นทุนจากการกู้เงินเท่านั้น

ดังนั้นสิ่งสำคัญกระทรวงการคลังจะต้องเร่งดำเนินการ คือ การผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ในภาวะที่มีปัจจัยเสี่ยง ก็ยอมเลือกที่จะเติบโตช้า แต่ว่าเป็นการเติบโตที่มั่นคง โดยมุ่งพัฒนา 3 ด้าน ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือ 1.มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลเทคโนโลยี 2.สนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2030 และ 3.การสร้างความเข้มแข็งให้ภาคสาธารณสุข

“ทั้ง 3 เรื่อง เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องให้การสนับสนุน ทั้งจากการออกมาตรการภาษี การให้สินเชื่อ ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูแลในเรื่องของ Finance Sustainable หรือความยั่งยืนด้านการคลัง ไม่ใช่จ่ายออกเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมีรายได้ มีการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศดำเนินการ”

รมว.คลัง กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top