รัฐ-เอกชน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าบรรลุเป้าหมาย Net Zero

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสวนางาน Better Thailand ในหัวข้อ “สิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประสานทุกหน่วยงาน ในการแก้ปัญหาเรื่องมลภาวะที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ทั้งทางอากาศ น้ำเสีย และขยะ

สำหรับปัญหามลภาวะทางอากาศ พบว่า ปัจจุบันฝุ่น PM 2.5 ลดลงเกือบ 20% ขณะที่จุดความร้อนในไทยอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น โดยลดลงเกือบ 70% จากความร่วมมือของประชาชนในการลดการเผาในที่โล่ง และจากมาตรการของภาครัฐ ในส่วนของปัญหาน้ำเสีย ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาได้มีการควบคุม และยกระดับการออกใบอนุญาต แต่จากการสำรวจคุณภาพน้ำ พบว่ายังไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนปริมาณขยะในไทย ก็ยังมีการบริหารจัดการไม่เพียงพอ อย่างไรก็ดี ได้มีการพูดคุยกับกลุ่มผู้ขายขยะ (ซาเล้ง) พบว่า ขยะรีไซเคิลมีราคาสูงขึ้น จากมาตรการของรัฐที่มีการจำกัดปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ดี ปัญหาทั้ง 3 เรื่องถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย เป็นไปตามคำกล่าวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) ที่ระบุว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดภายในปี 2573 และมีเป้าหมาย Net Zero หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2608

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นอย่างมาก เช่น ปริมาณน้ำที่มากในปี 64 ซึ่งก่อให้เหิดปัญหาน้ำท่วม และน้ำทะเลหนุนสูง จึงต้องมีการดำเนินการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตามแผนที่ประกาศใน COP 26 เช่น การทำ Carbon Credit และ Carbon Neutrality เป็นต้น

“การจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573 ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อประเทศของเรา หากเราทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ผลกระทบก็จะวนกลับมาเกิดขึ้นกับเรา คนที่จะลงโทษเราไม่ใช่ต่างประเทศ แต่เป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ดี มีบางประเทศเริ่มนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมากำหนดปริมาณการปล่อยและดูดกลับของก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ของสินค้าแล้ว ดังนั้น ไทยเองก็ต้องเร่งพัฒนาตนเอง ทั้งนี้ มั่นใจในศักยภาพของรัฐ และหน่วยงานต่างๆ ว่าไทยจะสามารถทำได้อย่างที่พูดแน่นอน”

นายวราวุธ กล่าว

ด้าน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในปี 64 ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณ 247 ล้านตัน โดย 2 ใน 3 มาจากภาคพลังงานการผลิตไฟฟ้า 36% ภาคขนส่ง 28% ส่วนภาคอุตสาหกรรม 31% และภาคเกษตรกรรม 5% ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าภาคพลังงานการผลิตไฟฟ้า และภาคขนส่ง มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก เนื่องจากยังต้องใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล น้ำมัน และถ่านหิน ในการผลิตไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี ขณะนี้กองทุนน้ำมันของไทยติดลบ 72,000 ล้านบาท เนื่องจากต้องใช้ตรึงราคาน้ำมัน แก๊ซหุงต้ม ก๊าซธรรมชาติ ที่มีราคาสูงขึ้น โดยปัจจัยหนึ่งมาจากการลดกำลังการผลิตของต่างประเทศ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรหันกลับมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยภาครัฐได้ออกแบบแผนพลังงานชาติ ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้มีการผลิตไฟฟ้า 50% ในปี 2583 ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) 30% ในปี 2573 และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 30%

ทั้งนี้ การจะเดินหน้าตามแผนพลังงานชาติ ต้องอาศัยตัวกระตุ้นด้วยมาตรการ “4 สหายตัวดี (D)” ดังนี้

1. Decarbonization ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ใน 20 ปี ให้ได้ 4,500 เมกะวัตต์ เพิ่มพลังงานลมเป็น 1,500 เมกะวัตต์ เพิ่มพลังงานขยะ 800 เมกะวัตต์ และซื้อพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้

2. Digitalization นำ Internet of thing มาใช้ในภาคพลังงาน ใช้ระบบ AI มาจัดการ Data หรือจัดเก็บข้อมูลโดยใช้ Smart Meter นอกจากนี้ ยังใช้ Data Digital Twin สร้างโรงไฟฟ้าเสมือนจริง เพื่อดูความเป็นไปได้ และเห็นปัญหาก่อนการก่อสร้างจริง

3. Decentralization สร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กผลิตไฟฟ้า และสามารถส่งขายเข้าระบบใหญ่ได้

4. Deregulation ปรับกฏระเบียบให้มีความทันสมัย และมีความสอดคล้องกัน

ด้าน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า ปตท. ได้วางแผนตั้งกลยุทธ์ตั้งแต่ที่ภาครัฐประกาศเป้าหมาย Net Zero ในงาน COP26 เนื่องจาก ปตท. ตั้งเป้าว่าจะบรรลุเป้าหมายให้ได้เร็วกว่าที่ประกาศ โดยภายในปีนี้จะทำการประกาศแผนที่ชัดเจน ทั้งนี้ เบื้องต้นวางแผนดำเนินการ 3P ได้แก่

1. Pursuit of lower Emissions ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด, ใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ, จับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากักเก็บ, นำพลังงานทดแทนมาใช้ประโยชน์ในหน่วยงาน, ทดลองการซื้อขาย Carbon Trading และทดลองการใช้ก๊าซไฮโดรเจนกับรถยนต์ เพื่อลดการปล่อยมลพิษ เป็นต้น

2. Portfolio Transformation เปลี่ยนวิสัยทัศน์ให้สอดคล้องกับการดำเนินงานในอนาคต มุ่งเน้นเรื่องพลังงานแห่งอนาคต โดยจะมีการดำเนินการยกเลิกการขายถ่านหินทั้งหมดภายในปี 65 ส่วนโรงกลั่นน้ำมันจะยังดำเนินการต่อ แต่จะใช้ผลิตน้ำมันที่ลดมลพิษมากขึ้น ขณะที่ก๊าซธรรมชาติยังคงขายต่อไป

สำหรับพลังงานทดแทน ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2573 จะมีพลังงานทดแทนในพอร์ต 12,000 เมกะวัตต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีการตั้งบริษัทเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV และจะมีการเพิ่มพอร์ตการลงทุน 20% ภายในปี 2573 ใน Future Energy and Green Business

3. Partnership with Nature and Society ปลูกและบำรุงรักษาป่า ร่วมกับภาครัฐและชุมชน

“เชื่อว่าการสร้างโลกให้ยั่งยืน เป็นเรื่องเดียวกับการสร้างธุรกิจให้เข้มแข็ง” นายอรรถพล กล่าว

ด้าน นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) กล่าวว่า เรื่องภาวะโลกร้อนถือเป็นปัญหาใหญ่ของทั่วโลก โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 มิติ คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าว ทุกภาคส่วนมีหน้าที่ต้องช่วยกัน

สำหรับ SCC มีแผนการดำเนินงาน ESG 4 Plus ได้แก่ 1. เป้าหมาย Net Zero ในปี 2593 โดยการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น 2. Go Green โดยปัจจุบันมีสินค้า Low Carbon Product ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าปี 2573 ลดลงให้ได้ 50% เช่น ออกแบบบบรรจุภัณฑ์ให้รีไซเคิลได้ 3. Lean ความเหลื่อมล้ำ เช่น การรีสกิลแรงงาน 4. ย้ำความร่วมมือ และ 5. Plus ความเป็นธรรมโปร่งใส ในการดำเนินงาน

ด้าน นพ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ในมุมมองของประเทศไทย โมเดลเศรษฐกิจ BCG (B = Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ, C = Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G = Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว) เปรียบเสมือนวัคซีนสำคัญ ที่จะป้องกันการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม

ทั้งนี้ แผนโมเดลเศรษฐกิจ BCG นั้น เป็นความประสงค์ของทุกคนในประเทศ ที่ต้องการร่วมกันดำเนินการให้ลุล่วง ซึ่งประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีรากฐานที่แข็งแรง ทั้งด้านการแพทย์ เกษตร อุตสาหกรรม การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งรากฐานที่มั่นคงต่างๆ เหล่านี้ จะส่งเสริมให้ไทยสามารถขยายแผน BCG ให้บรรลุต่อไปได้

“BCG ไม่ใช่เรื่องของอนาคต แต่เป็นเรื่องของปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้เกิดการตื่นตัวอย่างมากในเรื่องนี้ ในการมุ่งให้ BCG เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศของเรา”

นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top