วิโรจน์-รสนา-ชัชชาติ-ศิธา ชี้ไม่ควรต่อสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสพร้อมกดค่าโดยสารลง

สภาองค์กรของผู้บริโภค รวบรวมนโยบายของ 7 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคใน 9 ด้าน โดยแต่ละด้านที่ว่านั้น อ้างอิงมาจากการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่แบ่งออกเป็น 8 ด้าน + 1 คณะทำงาน ได้แก่ 1) การขนส่งและยานพาหนะ 2) อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย 3) การเงินและการธนาคาร 4) สินค้าและบริการทั่วไป 5) บริการสุขภาพ 6)บริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม 7) อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 8) การสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 9) การทำงานด้านการศึกษา

นโยบายของผู้สมัครฯ ผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนจะมีนโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไรบ้าง

ประเด็นแรก นโยบายด้านการขนส่งและยานพาหนะที่เป็นประเด็นปัญหาที่อยู่คู่กับคน กทม. มาอย่างยาวนาน ทั้งปัญหารถติด หรือ ปัญหารถสาธารณะไม่เอื้อกับมวลชนในการเข้าถึงบริการ เช่น รถไฟฟ้าราคาแพง รถเมล์มาไม่ตรงเวลา แถมพนักงานยังขับรถไม่สุภาพ รวมทั้งในกระแสโซเชียลยังมีการร้องขอให้เปิดเผยสัญญาณสัมปทานรถไฟฟ้าให้โปร่งใส เพราะประชาชนจะต้องเป็นผู้ร่วมตัดสินใจในการต่อสัญญาสัมปทานนั้น เป็นต้น

ในประเด็นปัญหาด้านการขนส่งฯ นี้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ส่วนใหญ่มองว่า รัฐบาลไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร มองว่าควรมีการเปิดสัญญาสัมปทานเดิมที่ทำกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว และ ในอนาคตไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานอีกแล้ว รวมถึงยังเห็นว่าการผลักดันให้เกิดตั๋วร่วมในราคา 15 – 45 บาทตลอดสายสามารถทำได้

เช่นเดียวกับ นางสาวรสนา โตสิตระกูล ที่เห็นว่า รัฐไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว และ จะผลักดันค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาทตลอดสาย ส่วนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ เห็นเช่นเดียวกับอีกสองคน คือ ไม่ควรต่อสัญญาสัมปทาน และ ควรเปิดเผยสัญญาสัมปทานเดิมออกมา รวมทั้งยังสนับสนุนให้ค่าโดยสารต่อเที่ยวมีราคาอยู่ระหว่าง 25 – 30 บาทตลอดสาย รววมไปถึงนายศิธา ทิวารี ที่มองว่า ไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเช่นเดียวกัน และ จะผลักดันตั๋วร่วมให้เกิดขึ้นให้ได้

ขณะที่นายอัศวิน ขวัญเมือง’ เห็นว่า การต่อสัญญาสัมปทานกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการเก็บค่าโดยสารในราคาสูงสุดไม่เกิน 65 บาท จะทำให้มวลชนสามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยังเสนอนโยบายที่ต้องการทำให้ระบบขนส่งมวลชนมีคุณภาพ เชื่อมต่อกันได้อย่างไร้รอยต่อ ในด้านนายสกลธี ภัททิยกุลก็มีความพยายามจะเชื่อมล้อ ราง เรือ ให้เกิดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ มีความพยายามที่จะแก้ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยจัดการ

ถัดมาในประเด็นอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนมีความพยายามที่จะทำให้ กทม. มีผังเมืองที่น่าอยู่ โดนพยายามจะแบ่งโซนของผังเมืองให้เป็นสัดเป็นส่วน รวมถึงมีการนำเสนอนโยบายในการจัดระเบียบไม่ให้กลุ่มทุนเข้ามาครอบครองผังเมืองด้วย

ขณะที่ประเด็นด้านการเงินการธนาคารนั้น เน้นไปการทำให้ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ หรือคนที่เกษียณอายุไปแล้ว มีรายได้ที่ได้รับการอุดหนุนจากส่วนกลางเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเพิ่มเงินผู้สูงอายุ เพิ่มเงินของเด็กและคนพิการ รวมถึงการเพิ่มเงินบำนาญให้ประชาชน

ส่วนประเด็นด้านสินค้าและบริการทั่วไป ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อย่างนายวิโรจน์ เน้นไปที่การทำให้ศูนย์เด็กเล็กมีคุณภาพ มีมาตรฐานทัดเทียมเทียบกับของเอกชนได้ ส่วนนายอัศวินเน้นไปที่การทำให้หน่วยงานราชการ กทม. มีความโปร่งใส เชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ได้ทันท่วงทีและรวดเร็ว ขณะที่นางรสนาเน้นไปที่การทำให้การค้าขายเป็นไปอย่างถูกกฎหมายมากยิ่งขึ้น รวมถึงเน้นให้มีความสะอาด ปลอดภัย และมีพื้นที่ทำเลที่ดีในการรองรับการค้าขาย

ด้านประเด็นบริการสุขภาพ ส่วนใหญ่เน้นนำเสนอนโยบายที่ดูแลสุขภาพประชาชน หรือการเข้ารับการรักษาพยาบาล ให้เป็นไปอย่างทันท่วงที ทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีระบบที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

มาต่อที่ประเด็นบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 7 คน เน้นหนักในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว มีสวนสาธารณะมากขึ้น รวมทั้งการจัดการปัญหาขยะ ทั้งการจัดเก็บขยะให้เป็นระบบ แยกขยะให้มากขึ้น และเปลี่ยนขยะให้เป็นรายได้ เริ่มที่นายวิโรจน์ นำเสนอนโยบายเปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะ ขณะที่นายสกลธีมีความพยายามที่จะลดขยะ และ แยกขยะให้มากขึ้น อีกทั้งการเพิ่มสวนสาธารณะขนาดเล็กทั่วเมือง ด้านนายสุชัชวีร์จะปฏิวัติระบบการจัดเก็บขยะ จัดการฝุ่น PM2.5 และผลักดันสวนสาธารณะฉบับกระเป๋า

ส่วนนายอัศวินจะเดินหน้าปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและทำคลองต่าง ๆ ให้น้ำในคลองใสขึ้น ขณะที่นางสาวรสนานั้นเน้นไปทำเรื่องกองทุนหลังคาบ้านโซลาร์เซลล์ ด้านนายชัชชาติมีการนำเสนอแนวคิดเปลี่ยนขยะเป็นรายได้ และ ผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย ปิดท้ายที่นายศิธาที่จะผลักดันให้มีพื้นที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. ให้มากขึ้น

ส่วนในประเด็นการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ละคนพยายามทำให้ กทม. กลายเป็นเมืองดิจิทัล โดยการติดตั้งไวไฟฟรีทั่วเมือง เตรียมพร้อมในเรื่องความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบการยื่นขอใบอนุญาตต่าง ๆ ให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ในประเด็นอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ นั้น ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อย่างนายสุชัชวีร์ เน้นนโยบายเรื่องอาหารดี มีคุณภาพ ขณะที่นางสาวรสนาเน้นนโยบายที่ทำให้อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ถูกกฎหมาย มีคุณภาพ ปลอดภัย มากยิ่งขึ้น และในประเด็นสุดท้าย อย่างประเด็นการศึกษา แต่ละคนมีการนำเสนอนโยบายที่ทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ตอบโจทย์นักเรียน ปรับหลักสูตรมีคุณภาพและเหมาะสมขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้โรงเรียนมีพื้นที่ให้เอื้อต่อการทำกิจกรรมอื่น ๆ สำหรับเด็ก

สภาองค์กรของผู้บริโภค สนับสนุนชาว กทม. ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกันในวันอาทิตย์ ที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top