จุรินทร์ ปลื้ม รมต.การค้าเอเปกบรรลุเป้าหมาย Open Connect Balance แม้ไร้แถลงการณ์ร่วม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แถลงผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) ว่า การประชุมเอเปกตลอด 2 วันที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสมาชิกเอเปกในการผลักดันและกำหนดทิศทางผ่านการแสดงวิสัยทัศน์และมุมมองที่หลากหลายในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน รวมทั้งการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ตามหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคประจำปี 2022 ที่ประเทศไทยกำหนดขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” หรือ Open Connect Balance

“ผลการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพวันนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะหัวข้อหลักที่ประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพกำหนดไว้ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Open Connect Balance เป็นไปตามเป้าหมายและบรรลุผลเป็นรูปธรรม ทั้งจากความเห็นของที่ประชุมและที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต” นายจุรินทร์กล่าว

โดยในเรื่องของ Open คือการเปิดกว้างและเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน ผลรูปธรรมที่ทุกเขตเศรษฐกิจเห็นร่วมกันคือการที่เราจะนำเอเปค ไปสู่การจัดทำ FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific) ให้เกิดขึ้นในอนาคต สำหรับเรื่อง Connect หรือการเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจทั้งในส่วนของบุคคลหรือสินค้าและบริการ ได้มีการตั้งคณะทำงานที่เรียกว่า APEC Safe Passage Task Force เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปให้เกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และ Balance หรือสร้างสมดุล มีความเห็นที่ตรงกันในทุกเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมให้มุ่งเน้นการสร้างสมดุลในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงานและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทุกระดับ ตั้งแต่คนตัวใหญ่จนกระทั่งถึงคนตัวเล็ก ในระดับ SMEs และ Micro-SMEs เรงงาน ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง สตรีและอื่นๆ

“สัญญาณอีกข้อ ที่สะท้อนความสำเร็จของประเทศไทย คือการที่ทุกเขตเศรษฐกิจได้ยอมรับ และสนับสนุน BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ของไทย ให้เป็นวิสัยทัศน์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปกในอนาคต” นายจุรินทร์กล่าว

พร้อมยอมรับว่า การประชุมครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ที่ประชุมไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมของการประชุมเอเปกได้เช่นเดียวกับบางครั้งที่เกิดขึ้นในอดีต แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะมีผลลัพธ์ในรูปถ้อยแถลงหรือแถลงการณ์ของประธานการประชุมเอเปก คือประเทศไทยในรูปของ Chair Statement แทน ซึ่งได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกร่าง เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมามีส่วนร่วมในการยกร่างและจะประกาศเป็นทางการในรูปเอกสารต่อไป

“แม้ว่าการประชุมครั้งนี้ จะไม่ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วม แต่ถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จ และประเทศไทยเคารพความเห็นของทุกเขตเศรษฐกิจ รวมทั้งประเทศไทยยังพร้อมทำงานร่วมกับเอเปกอย่างเข้มแข็งต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดตั้ง FTAAP การสนับสนุนการค้าในรูปแบบพหุภาคีรวมทั้ง WTO และการจับมือเดินไปด้วยกันอยู่ร่วมกันกับโควิดและอนาคตต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว

อนึ่ง แถลงการณ์ร่วมจะเกิดขึ้นได้เมื่อทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมีความเห็นตรงกันทั้งหมดที่เรียกว่าเป็นฉันทามติ ถ้ามีแม้เขตเศรษฐกิจใดเศรษฐกิจหนึ่งเห็นไม่สอดคล้องก็ไม่สามารถประกาศได้ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเนื่องจากมีความเห็นไม่สอดคล้องกันในเรื่องสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทุกเขตเศรษฐกิจเห็นพ้องกันในการให้มีแถลงการณ์ร่วม เพียงแต่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่เห็นไม่สอดคล้องกัน บางเขตเศรษฐกิจเห็นไม่ตรงกัน เป็นที่มาที่ทำให้ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้

ทั้งนี้ ที่ประชุม MRT ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ เนื่องจากสมาชิกบางเขตเศรษฐกิจ มีความเห็นขัดแย้งกันในบางประเด็นที่ไม่สามารถยอมรับได้ ส่งผลให้ประเทศไทยในฐานะประธานการประชุมครั้งนี้จำเป็นต้องออกแถลงการณ์ของประธานแทน โดยสมาชิกเอเปก 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยังคงประท้วงรัสเซียเช่นเดิม โดยไม่เข้าห้องประชุมในช่วงที่นายมักซิม เรียชเชสนิคอฟ รมว.การพัฒนาเศรษฐกิจ สหพันธรัฐรัสเซีย กล่าวในที่ประชุม

ขณะที่ในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกวันแรกเมื่อวานนี้ (21 พ.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้กล่าวถึงกรณีที่ทั้ง 5 ประเทศวอล์คเอาท์ หรือเดินออกจากห้องประชุมในช่วงที่นายเรียชเชสนิคอฟ กล่าวในที่ประชุม เพื่อแสดงการประท้วงรัสเซียกรณีใช้ปฏิบัติการทางทหารกับยูเครนว่า ในภาพรวมการประชุมครั้งนี้ยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในฐานะประธานที่ประชุมมั่นใจว่าทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยดีตามเป้าหมาย ส่วนเขตเศรษฐกิจใดจะมีความเห็นอย่างไรและดำเนินการอย่างไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละเขตเศรษฐกิจ

ส่วนกรณีที่หากไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมกันได้ จะถือว่าการประชุมครั้งนี้ล้มเหลวหรือไม่นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไม่ถือว่าล้มเหลว หากออกแถลงการณ์ไม่ได้ ก็จะเป็นการออกแถลงการณ์ของประธานการประชุม ซึ่งไม่กังวลข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น

ทั้งนี้ กลุ่มเอเปกประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ค. 65)

Tags:
Back to Top