นายกสมาคม บลจ.มุ่งเป้าเพิ่มผลิตภัณฑ์ออมสนองทุกระดับทุกช่วงวัย-ยกระดับบทบาทผู้ลงทุนสถาบัน

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า บทบาทหน้าที่นายกสมาคมฯ มีความท้าทาย เนื่องจากปัจจุบันระดับการออมของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำและกระจุกตัวในวงจำกัด รวมถึงการออมเพื่อการเกษียณอายุผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีสัดส่วนเพียง 8% ของ GDP และจำนวนผู้ออมเพียง 3 ล้านคน

ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่จำกัด และไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของนักลงทุนที่มีเงินลงทุนในระดับสูง มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน และต้องการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ Sophisticated มากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สำหรับนักลงทุน ทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนไปจนถึง Digital Assets จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับ Fund Manager, Analysts, ไปจนถึง Advisory ให้มีทักษะที่เทียบเคียงได้กับสากล

จากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ทางสมาคมฯ จึงมุ่งหวังที่จะผลักดันให้กองทุนรวมเป็นช่องทางการออมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีได้ทุกระดับและทุกช่วงวัย ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์การออมที่ครบถ้วนสำหรับการลงทุน พร้อมทั้งเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุนด้านดิจิทัลและผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่น ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของนักลงทุน รวมถึงการยกระดับบทบาทของอุตสาหกรรมในฐานะผู้ลงทุนสถาบันให้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

ทั้งนี้ ได้วางแผนกลยุทธ์ 6 ด้านเพื่อบรรลุเป้าหมายตามพันธกิจ ประกอบด้วย

1) Financial well-being for Thais: มีเป้าหมายที่จะผลักดันพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ และขยายฐานผู้ออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เติบโตมากขึ้น

2) Digital investment products & initiative: มีเป้าหมายที่จะพัฒนาและนำเสนอทางเลือกผลิตภัณฑ์การออม การลงทุนที่ครบถ้วน

3) Sustainable investing: มีเป้าหมายที่จะยกระดับบทบาทการทำหน้าที่ของกองทุนในฐานะนักลงทุนสถาบันให้มีบทบาทในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

4) Industry competitiveness & sustainability: มีเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของอุตสาหกรรมในทุกระดับ

5) Big data database and analysis: มีเป้าหมายที่จะประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดให้มีฐานข้อมูล centralized data หรือ shared data เพื่อนำเสนอนโยบายการออมที่เหมาะสมต่อภาครัฐ

6) Industry efficiency: มีเป้าหมายที่จะร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการจัดทำ regulatory guillotine เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความทันสมัย และสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆรองรับความต้องการของนักลงทุนไทย

โดยแผนทั้งหมดนี้ จะเน้นการกระจายงานตามแผนพร้อมส่งเสริม engagement และแบ่งงานตามความเชี่ยวชาญของคณะกรรมการสมาคมบุคลากรของอุตสาหกรรมตามกลุ่มความถนัด เพื่อใช้ศักยภาพสูงสุดของบุคลากรของอุตสาหกรรมในการสนับสนุนความสำเร็จตามพันธกิจของสมาคม

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top