IRPC คาดดีลธุรกิจเกี่ยวเนื่องชัดเจน 1-2 ดีลกลางปีหนุนเป้าเพิ่มกลุ่ม Specialty

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า ในช่วงปลายไตรมาส 2/65 คาดว่าจะมีความชัดเจนการเจรจาดีลธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่อยู่ระหว่างการศึกษา 1-2 ดีล ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า Specialty ที่จะเพิ่มสัดส่วนเพิ่มเป็น 52% ภายในปี 68 โดยบริษัทวางงบลงทุนในช่วงปี 65-69 ไว้ที่ 4.13 หมื่นล้านบาทเพื่อรองรับการลงทุนต่างๆ

สำหรับแนวโน้มธุรกิจในช่วงไตรมาส 2/65 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1/65 เนื่องจากปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสแรก และแนวโน้มส่วนต่างราคาผลิตภัณฑืปิโตรเคมี (เสปรด) เพิ่มขึ้น หลังจากต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นทำให้บริษัทเริ่มปรับราคาขายเพิ่มขึ้นเตามมาในช่วงไตรมาส 2/65 เล็กน้อย ส่งผลให้แนวโน้ม Market GRM สูงขึ้นจากไตรมาสแรกที่อยู่ในระดับ 7.08 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยหนุนาจากกำไรสต๊อกน้ำมัน (Stock gain) หลังจากราคาน้ำมันดิบดูไบสูงขึ้นมาที่ราว 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จากไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ช่วยหนุนผลงานในไตรมาส 2/65 แม้ว่าจะยังผลขาดทุนจากการทำประกันความเสี่ยงเข้ามาบ้างเล็กน้อยแต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ของราคาน้ำมันและราคาก๊าซอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงมีผลต่อราคาขายผลิตภัณฑ์ แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโพลิเมอร์ที่กลับมา โดยเฉพาะจากจีน หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงและเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

นอกจากนี้ การที่สหรัฐจะพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ทำให้การส่งออกของจีนมีโอกาสกลับมาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ กลับมาผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น และเป็นผลบวกต่อความต้องการสินค้าในกลุ่มปิโตรเคมีที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ อย่างไรก็ตามเนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศจีนมีผู้ผลิตค่อนมาก ทำให้บริษัทมองว่าจำเป็นต้องพัฒนาสินค้าใหม่ๆที่เป็น Specialty เข้าไปในตลาดจีนแทนสินค้ากลุ่ม Commodity เพื่อหาช่องว่างทางการตลาดในการเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4/65 บริษัทจะมีการปิดปรับปรุงโรงงานผลิต 1 แห่ง ทำให้กำลังการผลิตจะหายไปบางส่วน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อภาพรวมของผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4/65 อยู่บ้าง แต่มองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว และจะไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายระยะยาวในปี 68 ที่ตั้งเป้า EBITDA สูงขึ้นไปแตะระดับ 2.5 หมื่นล้านบาท

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top