รัฐบาลชี้ปี 64 ต่างชาติลงทุนอุตฯชีวภาพ 7.65 หมื่นลบ.หวังเป็นฮับอาเซียนปี 70

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเยือนประเทศญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 26-27 พ.ค. ว่า ส่วนหนึ่งของการกล่าวปาฐกถา บนเวที นิคเคอิ ฟอรั่ม นายกฯได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่มุ่งเป้าสร้างความสมดุล ลดความเหลื่อมล้ำและขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวครอบคลุมการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพของอาเซียน (Bio Hub of ASEAN) ภายในปี พ.ศ. 2570

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพที่ครอบคลุมหลายด้านตั้งแต่ปี 2561 และมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉพาะในปี 2564 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ เช่น การเกษตรและแปรรูปอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ รวม 222 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 7.65 หมื่นล้านบาท อาทิ 1)โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Thermoplastic Strach ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก 2)โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid ในจังหวัดนครสวรรค์ และ 3) โครงการผลิตหลอดดูดน้ำย่อยสลายได้จากเศษแป้ง จังหวัดขอนแก่น

สำหรับความคืบหน้าโครงการของภาคเอกชน เช่น โครงการไบโอฮับเอเซีย ที่จ.ฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุน57,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ เช่น พลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ และอาหารแห่งอนาคตสำหรับคนและสัตว์ มีการลงนามสัญญาร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติแล้ว และเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 6 หมื่นครัวเรือน

ส่วนการดำเนินงานภายใต้มาตรการอื่น ซึ่งประกอบด้วย การกระตุ้นความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการ การขจัดปัญหาและอุปสรรค เช่น การปรับปรุงร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล การปรับปรุงกฎกระทรวงต่างๆเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ การใช้แผนที่เกษตรเพื่อจัดการการปลูกพืชเศรษฐกิจให้เหมาะกับสภาพพื้นดิน การออกไปรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถยื่นขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านชีวภาพและการพัฒนาศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น

“อย่างไรก็ตาม การดำเนินการยังพบปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ บางจังหวัดยังพบปัญหาด้านผังเมืองที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมฯ บุคคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญไม่เพียงพอ และปริมาณเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ รัฐบาลได้เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขอยู่ เพื่อให้เกิดการใช้ศักยภาพด้านการเกษตรของประเทศที่มีอยู่มาก เป็นฐานรองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมชีวภาพที่ค่าเฉลี่ยตลาดโลกเติบโตไม่ต่ำกว่า 14% ซึ่งหมายความว่า เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้นและอย่างยั่งยืน รวมถึงเศรษฐกิจเติบโตและผนวกการส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน” นางสาวรัชดา กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top