สธ. ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยฝีดาษวานร 12 ราย ยันยังไม่พบในไทย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ส่วนผู้สัมผัสผู้ป่วยที่เดินทางมาเปลี่ยนเครื่องที่ไทย 12 ราย ยังเฝ้าระวังต่อเนื่อง ขณะที่ผู้เข้าข่ายสงสัย 5 คน ที่จ.ภูเก็ต ผลตรวจพบเป็นโรคเริม ชนิดติดต่อทางผิวหนัง

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทย แม้มีผู้ป่วยยืนยันเดินทางจากยุโรปไปออสเตรเลีย โดยแวะเปลี่ยนเครื่องที่ไทยเป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยมีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งเป็นผู้โดยสาร และลูกเรือจำนวน 12 ราย

“ถือว่าผู้โดยสาร และลูกเรือ 12 คน สัมผัสผู้ป่วยรายนี้ยังไม่เสี่ยงสูง เพราะขณะที่อยู่ไทยยังไม่มีอาการ แต่ได้รับการยืนยันเมื่อไปถึงออสเตรเลีย ขณะนี้ติดตามมาแล้ว 7 วัน ยังไม่พบมีอาการป่วย โดยจะติดตามไม่เกิน 21 วัน”

 นพ.จักรรัฐ กล่าว

ส่วนกรณีพบนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชาวไอร์แลนด์ มีอาการเข้าข่ายสงสัย 3 ราย(พี่น้องกัน) และอีก 2 รายที่มีอาการใกล้เคียงกัน เข้ามาเรียนมวยไทยที่ จ.ภูเก็ต จากผลการเก็บตัวอย่างตรวจและการตรวจ RT-PCR และการสอบสวนโรคไม่ใช่เชื้อฝีดาษวานร แต่เป็นโรคเริม ชนิดติดต่อทางผิวหนัง น่าจะติดต่อจากการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ 29 พ.ค.65) พบผู้ป่วยยืนยัน 406 ราย และผู้ป่วยสงสัย 88 ราย รวม 494 ราย ใน 32 ประเทศ

นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรในประเทศไทยว่า ต้องมีอาการไข้ อุณหภูมิมากกว่า 38 องศา ประกอบกับมีอาการป่วยอย่างน้อย 1 อย่าง คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีผื่น ตุ่มนูน โดยกระจายตามใบหน้า ลำตัว ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเด็ด ร่วมกับมีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ภายใน 21 วันที่ผ่านมา

– เดินทางมาจาก/อาศัยอยู่ในประเทศที่การรายงานการระบาดของโรคฝีดาษวานรภายในประเทศ

– ร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศเป็นประจำ

– สัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นำเข้าจากทวีปแอฟริกา

นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ว่า แนวโน้มการติดเชื้อรายวันแม้จะลดลงตลอด แต่เริ่มช้า ในส่วน RT-PCR และ ATK ลักษณะทรงตัว ภาพรวมสถานการณ์ยังทรงๆ โดยสัปดาห์นี้จะมีการพิจารณาปรับระดับเตือนภัย ระดับ 2 ในบางจังหวัด ขอให้ติดตามว่ามีจังหวัดไหนบ้าง

นอกจากนี้ จะมีการปรับระบบการรายงานสถานการณ์ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เป็นจริงในขณะนี้ ที่จะผ่อนคลายมากขึ้น เน้นการรายงานจำนวนผู้ป่วยรายวันจากค่าเฉลี่ย 7 วัน

“ขณะนี้ประเทศไทยสถานการณ์ลดลง คล้ายกับประเทศอื่นในเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายประเทศปรับระบบรายงานจากรายวันเป็นรายสัปดาห์ หรือรายงานเฉพาะการเสียชีวิต ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ประเทศไทยมีการปรับมาตรการเพื่อผ่อนคลายมากขึ้น ก็จะปรับระบบการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ เป็นการรายงานเฉพาะจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นระบบเฝ้าระวังในโรคที่ความรุนแรงลดลงแล้ว”

 นพ.จักรรัฐกล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้กำหนดให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย จึงต้องมีการค้นหาผู้ที่ติดเชื้อด้วยการตรวจ RT-PCR และ ATK แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น มีการปรับการรายงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเน้นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้นการตรวจ ATK เป็นประจำทุกสัปดาห์จึงไม่จำเป็น

โดยจะตรวจเป็นประจำใน 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ที่มีอาการ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ เป็นต้น 2.ผู้ดูแลใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงสูง คือ ผู้ดูแลผู้สูงอายุและเด็กเล็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และ 3.ผู้อยู่ในสถานที่หรือกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันจำนวนมาก และเสี่ยงแพร่ระบาด เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ พนักงานยังต้องตรวจเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น อาจพบการระบาดหรือการติดเชื้อเป็นวงกว้างได้พอสมควร ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ยังต้องเข้มมาตรการ 2U คือ การป้องกันส่วนบุคคล (Universal Prevention) และการฉีดวัคซีน (Universal Vaccination) เพราะหากติดเชื้ออาจมีอาการหนักได้ ส่วนสถานที่เสี่ยงต้องเข้มมาตรการด้วย เช่น พนักงานผับ บาร์ คาราโอเกะ ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทำตามมาตรการ COVID Free Setting ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ จัดสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเสี่ยง การระบายอากาศ เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top