“ทวี สอดส่อง” ชี้นายกฯ จัดงบประมาณกระจุกตัว-สร้างความเหลื่อมล้ำ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้จัดงบประมาณมาแล้ว 10 ครั้งตั้งแต่ปี 57 และได้ใช้งบไปทั้งหมด 11 ปี รวมงบกว่า 31 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่า GDP เกือบ 2 เท่า

ทั้งนี้ มองว่าการจัดงบประมาณในครั้งนี้ ไม่มีทั้งส่วนร่วมของประชาชน, ไม่ได้อยู่บนฐานความต้องการของประชาชน, ไม่ให้ความสำคัญสวัสดิการของประชาชน, ไม่กระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรม, ไม่คุ้มค่า, มีความซ้ำซ้อน และไม่เกิดสัมฤทธิ์ผลต่อประชาชน

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า นายกฯ ยังได้จัดงบประมาณที่เป็นความอยุติธรรมต่อประชาชน โดยพบว่ารัฐจัดเก็บรายได้ 2,490,000 ล้านบาท แต่ได้นำงบไปใช้เป็นรายจ่ายประจำ 2,396,942 ล้านบาท (งบบุคลากร 772,119 ล้านบาท) แต่ทุกปีที่ผ่านมาการจัดเก็บงบประมาณขาดเป้าประมาณ 2 แสนล้านบาท ดังนั้น คาดว่ารายได้ที่จะได้ในปี 66 จะน้อยกว่ารายจ่ายประจำ

อย่างไรก็ดี ในรายจ่ายประจำปีนั้นมีสวัสดิการของประชาชน แต่การจัดงบเป็นการอมงบไว้ที่ส่วนกลาง เนื่องจากงบประมาณในพื้นที่กทม. อยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท หรือ 57%, งบกลาง 0.58 ล้านล้านบาท หรือ 17%, งบพื้นที่ 76 จังหวัด 0.8 ล้านล้านบาท หรือ 26% และงบต่างประเทศอีก 0.1% รวมเป็นทั้งหมด 3.2 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ นายกฯ ได้ผลักงบประมาณที่สำคัญ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ ไปให้ท้องถิ่นแทน ซึ่งเป็นความอยุติธรรม เนื่องจากงบพื้นที่กทม. รวมกับงบกลางมีถึง 74% ขณะที่ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น คือ บำนาญข้าราชการจำนวนไม่ถึง 1 ล้านคน ตอนที่นายกฯ ยึดอำนาจอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่หลังจากนั้นอยู่ที่ 322,790 ล้านบาท ส่วนบำนาญที่เป็นของประชาชน 12 ล้านคน อยู่ที่เพียง 71,407 ล้านบาทเท่านั้น

“ยกตัวอย่างการจัดงบของประเทศญี่ปุ่น จัดงบ 70% ให้ต่างจังหวัด และ 30% ให้รัฐบาลกลาง ดังนั้น ถ้ารัฐจัดสรรงบใหม่ ให้ท้องถิ่นซัก 35% น่าจะเป็นการจัดสรรงบที่ยุติธรรมมากกว่า ความเหลื่อมล้ำนี้เกิดจากนายกฯ … โดยพรรคผมมองว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น ทุกคนต้องสิทธิเสมอกัน” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ในส่วนของสวัสดิการเด็ก ก็มีเงินอุดหนุนเด็ก 0-6 ปี ถ้วนหน้า เดือนละ 600 บาท จำนวน 4.46 ล้านคนและรัฐมีงบดูแลเพียง 2.82 ล้านคนเศษ ซึ่งมีเด็กตกหล่นเสียโอกาส 1.64 ล้านคน จากการลงทะเบียนไม่ทัน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ รัฐยังซ่อนหนี้สาธารณะ โดยหนี้สาธารณะ (มี.ค. 65) อยู่ที่ 9,951,964 ล้านบาท หนี้เงินค้างชำระตามนโยบายของรัฐ อยู่ที่ 1,060,000 ล้านบาท หนี้งบผูกพัน 1,095,654 ล้านบาท และหนี้ประกันสังคม 66,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ที่แท้จริงเกิน 70% ซึ่งการมีงบผูกพันข้ามปีนั้น ถือเป็นการฮั้วประมูลในอนาคตด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top