ปชป. ห่วงคว่ำงบปี 66 ซ้ำเติมประชาชน แนะปรับแก้ชั้นกมธ.

นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า จากการพิจารณาในรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณปีนี้แล้วเห็นว่ายังมีความไม่เป็นธรรม หากเปรียบเทียบจากงบสนับสนุน SMEs ทั่วประเทศ 3.2 ล้านราย มีจำนวน 2,721 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 856 บาท ขณะที่งบค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 2.1 ล้านคน มีจำนวน 1.3 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 600,000 บาท

สถานการณ์ขณะนี้ประชาชนเหมือนตกอยู่ในสามเหลี่ยมแห่งความวอดวาย เนื่องจากปัจจัย 3 ประการ คือ จมกองหนี้ 2.ไม่มีทุน และ 3.ขาดภูมิต้านทาน ซึ่งเชื่อว่างบประมาณในปีนี้จะช่วยคลี่คลายปัญหาให้กับประชาชนได้

“งบประมาณปีนี้เหมือนถังออกซิเจน หากจะมีการคว่ำงบปีนี้ก็เหมือนตัดท่อออกซิเจน อย่าไปซ้ำเติมประชาชนด้วยพิษการเมืองในสภาเลย” นายอิสระ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการบริหารราชการของรัฐบาลช่วงปีสุดท้ายก่อนครบวาระอยากฝากให้แก้ไขปัญหา 3 ประเด็น คือ 1.ตัดงบประมาณเกินตัวที่ไม่มีความจำเป็น เช่น งบไปดูงานต่างประเทศ งบจัดซื้อรถประจำตำแหน่ง 2.การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นบ่อเกิดของการทุจริตคอรัปชั่น และ 3.การเกลี่ยบุคลากรให้เหมาะสมกับปริมาณงานที่รับผิดชอบ ซึ่งจะเป็นแนวทางช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ

ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณปี 66 สมมติฐานที่เขียนในเอกสารงบประมาณไม่สะท้อนความเป็นจริง เนื่องจากยังอยู่ในโลกที่ไม่มีทั้งวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน และภาวะเงินเฟ้อ โดยเอกสารระบุว่า GDP ปี 65 เติบโตที่ 3.2-4.2% อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 0.5-1.5% และรายได้ทั้งปี 2.49 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ทุกสำนักทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับคาดการณ์ลง เนื่องจากเศรษฐกิจหด เงินเฟ้อฟุ่ง

นอกจากนี้ งบประมาณรายจ่ายตามยุทธศาสตร์ชาติ ไม่มียุทธศาสตร์เฉพาะในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจ และงบกลาง 590,470 ล้านบาท ใช้กรณีฉุกเฉินเพียง 92,400 ล้านบาท, บรรเทา แก้ปัญหา เยียวยาโควิด-19 3,000 ล้านบาท ที่เหลือผูกพันหมดแล้ว (10 รายการ) ส่วนใหญ่คือ สวัสดิการ รักษาพยาบาลเบี้ยหวัด บำนาญข้าราชการ และไม่เคยรายงานผลการดำเนินการและการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งควรย้ายทั้งหมดไปอยู่ในงบทั่วไป

“ที่น่าแปลกใจคือทุกปีจะมีรายงานงบประมาณ แต่ฉบับล่าสุดนี้ไม่มีรายงานการใช้งบกลางเลย ซึ่งต้องไปปรับปรุง ให้เป็นไปตามเจตนาของรัฐธรรมนูญ ว่าโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้” นายเกียรติ กล่าว

ในวาระที่ 1 อย่างไรก็ต้องผ่าน เพราะงบประมาณเป็นเรื่องของประชาชน ต้องปรับปรุงให้ดีในชั้นกรรมาธิการ

“เมื่อไปดูในชั้นกรรมาธิการต้องให้สะท้อนความจริง เพราะไม่อย่างนั้นจะเก็บรายได้ไม่ได้อย่างที่วางแผนไว้ การค้าระหว่างประเทศเป็นไปไม่ได้ เงินเฟ้อพุ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องมีการปรับ ดังนั้น ทุกคนที่นั่งอยู่ในกรรมาธิการงบประมาณ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ว่าสมมติฐานที่มีอยู่มันไปไม่ได้” นายเกียรติ กล่าว

สำหรับปัญหาของประเทศไทยในวันนี้ ไม่ได้ต่างกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่เจอวิกฤติซ้อนวิกฤติ เริ่มจากปัญหาโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้การลงทุนหาย นักท่องเที่ยว 30 ล้านคนหายไป และมีการตกงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาทั่วโลกต้องประสบปัญหาวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประเทศไทยได้รับผลกระทบทั้งน้ำมันแพง ก๊าซแพง ไฟฟ้าแพง ขนส่งแพง และของแพง โดยไทยได้รับความเสียหายทางตรงไปกว่า 250,000 ล้านบาท ทั้งภาคส่งออก การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ

ในส่วนของผลจากวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลักๆ คือวิกฤติพลังงาน ส่งผลให้ราคาสินค้าพุ่งซ้ำซ้อน อาหารขาดแคลน ซึ่งกระทบต่อไทยทั้งเรื่องวัตถุดิบขาดแคลน ปุ๋ยแพง อาหารบางรายการที่ต้องใช้วัตถุดิบดังกล่าวก็มีราคาแพงขึ้น ขณะเดียวกัน ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต้องประสบปัญหาสงครามเงินเฟ้อ เงินที่มีอยู่หดตัวลง ของแพงขึ้น

นายเกียรติ กล่าวว่า อยากเห็นการวางแผนงบประมาณ ด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ (Scenario Analysis) ในปี 65 ในหลายกรณีว่าวิกฤติความขัดแย้งจะจบภายใน 3 เดือน 6 เดือน หรือตลอดทั้งปี เป็นต้น โดยการวางแผนงบประมาณที่ดีต้องเผื่อกรณีที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งการจัดงบล่าสุดยังอยู่ในภาวะปกติอยู่ แต่ก็สามารถปรับปรุงได้

นายเกียรติ กล่าวสรุปว่า กรรมาธิการต้องจัดงบประมาณใหม่ เน้นแก้ปัญหาปากท้อง และสวัสดิการพื้นฐานของประชาชน, งบกลางไม่ควรเกิน 3-5% (18.6% ปี 66) ในส่วนที่ดำเนินการเป็นประจำทุกปี ควรนำไปรวมในงบฯ ปกติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องรายงานผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณ เช่นเดียวกับงบประมาณรายการอื่นๆ ด้วย, ควรเร่งปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติ เช่น เหล็ก ปุย น้ำมันดิบ เป็นต้น, การปรับลดกำไรโรงกลั่น และค่าการตลาด ทบทวนราคาก๊าซให้เป็นธรรม ขอให้กรรมาธิการขอคำยืนยันจากกระทรวงพลังงาน และองค์กรกำกับดูแลกิจการพลังงาน

นอกจากนี้ รัฐจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งในและนอกระบบอย่างไร, รัฐจะทำอย่างไรกับเงินนอกงบประมาณที่พุ่งสูงถึง 5 ล้านล้านบาท, รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เพียงพอ , รัฐจะต้องมีการออก พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจอีกหรือไม่ และรัฐต้องใช้นโยบายที่ใช้เงินน้อย แต่ได้ผลมาก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top