เพื่อไทย อัดรัฐบาลจัดทำงบปี 66 เอาเปรียบ-ซ้ำเติมปชช. หาเงินไม่เป็น

น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 นี้ ไทยได้เริ่มเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ และถือว่าเป็นสัญญาณการเปิดเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ ก.ย.65 ควรจะต้องเป็นงบประมาณที่เตรียมไว้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 แต่หลังจากที่ตนได้ศึกษารายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้แล้ว กลับพบว่านอกจากจะไม่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการทำงบประมาณที่ออกแบบมาเพื่อการหารายได้เข้ารัฐ ขูดเลือดขูดเนื้อประชาชน และซ้ำเติมความลำบากจากโควิด-19 โดยขอเรียกว่าเป็น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฉบับขูดรีดประชาชน

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาทนี้ มีรายรับหลักมาจาก 2 ทาง คือ 1.รายได้ และ 2.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งในส่วนของรายได้รัฐบาลนั้น จะมาจากการจัดเก็บภาษีอากร และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังนั้น ในปี 2566 รัฐบาลสามารถกู้ได้ 717,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลกลับปรับลดการกู้เงินลงจากปีก่อน 5,000 ล้านบาท มาเหลือ 695,000 ล้านบาท โดยไม่กู้เต็มเพดาน แล้วเลือกจะมาเพิ่มในส่วนของการจัดเก็บรายได้แทนเป็น 2.49 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนถึง 9 หมื่นล้านบาท

“ถือว่าเอาเปรียบประชาชนมาก เพราะรัฐบาลลดวงเงินกู้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนว่าเป็นรัฐบาลนักกู้ ที่กู้มาเพิ่มทุกปีจนเต็มเพดาน แต่มาเพิ่มการจัดเก็บภาษีรายได้จากรัฐวิสาหกิจ และผลักภาระให้พี่น้องประชาชนแทน ซึ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชน ที่วันนี้ยังไม่เห็นแสงสว่างว่าจะฟื้นตัวจากวิกฤตที่หนักหนาสาหัสได้อย่างไร”

น.ส.จิราพร กล่าว

พร้อมระบุว่า รายได้รัฐที่มาจากการจัดเก็บภาษี และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ที่ตั้งเป้าจะเก็บเพิ่มขึ้นนั้น เป็นรายการที่กระทบต่อผู้ประกอบการ และค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง ซึ่งจะเห็นได้จากที่รัฐบาลตั้งเป้าจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 66 ที่ 670,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 99,000 ล้านบาท คำถามคือจะเก็บเพิ่มจากใคร จะเน้นเก็บบริษัทขนาดใหญ่ หรือเก็บจากบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งต่างได้รับผลกระทบจากโควิดกันอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา

“ถ้ารัฐบาลคิดว่าจะสามารถเก็บรายได้ได้ตามเป้านี้อย่างแน่นอน ก็มีข้อสังเกตว่ารายได้ภาษีนิติบุคคลกว่า 80% มาจากบริษัทขนาดใหญ่ รัฐบาลอาจต้องมีมาตรการที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทขนาดใหญ่ให้มีรายได้เพิ่ม เพื่อมาจ่ายภาษีนิติบุคคลให้เข้าเป้าตามที่ตั้งใจไว้ โดยที่อาจจะละเลย ไม่ใช่นโยบายที่ช่วยสนับสนุนดูแลบริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก SME แต่หากมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะเก็บภาษีจากบริษัทขนาดใหญ่ไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ กรรมอาจจะมาตกอยู่ที่ SMEs”

น.ส.จิราพร กล่าว

นอกจากนั้น ปีนี้จะเป็นปีแรกที่รัฐบาลจะเริ่มเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มจำนวน ซึ่งเดิมจะเก็บเพื่อกระจายความมั่งคั่งจากคนรวย แต่ในความเป็นจริง ไม่สามารถเก็บภาษีจากกลุ่มคนเป้าหมายได้ เนื่องจากคนรวยต่างหาช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อเสียภาษีให้น้อยลง กลายเป็นคนชั้นกลางเป็นผู้ที่ต้องรับภาระจ่ายภาษีนี้เต็มจำนวน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังหารายได้เพิ่มด้วยการเรียกเก็บรายได้จากรัฐวิสาหกิจเข้าคลังเพิ่มอีก 5% ตัวอย่างเช่น รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไฟฟ้า ที่จากเดิมต้องนำเงินรายได้ส่งคลัง 45% ของกำไร แต่ล่าสุดตั้งแต่ปีงบ 65 จะต้องนำส่งเพิ่มเป็น 50% ของกำไร ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลสิ้นไร้ไม้ตอกในการหารายได้ และรัฐบาลปล่อยปละละเลยให้รัฐวิสาหกิจไปขูดรีดประชาชนต่อ โดยจะเห็นได้จากการที่ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น ภาระค่าครองชีพสูงขึ้น

“การที่รัฐบาลปล่อยให้รัฐวิสาหกิจขึ้นค่าไฟโดยไม่เข้าไปกำกับดูแล เพราะต้องการได้ส่วนแบ่งกำไรนี้ มาเป็นงบประมาณของรัฐบาลใช่หรือไม่ สรุปประชาชนเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง” น.ส.จิราพรกล่าว และเห็นว่าในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ รัฐบาลควรมีนโยบายเข้าไปกำกับดูแลไม่ให้ค่าไฟแพงขึ้น ไม่ใช่ไม่อนุญาติให้รัฐวิสาหกิจมีกำไร แต่ขอให้กำไรลดลงบ้าง เพื่อไม่ต้องมาเก็บกับประชาชนเพิ่ม แต่นายกฯ พักบ้านหลวง ใช้น้ำ-ไฟฟรี อาจจะไม่ได้เข้าใจความทุกข์ยากของประชาชนมากนัก”

น.ส.จิราพร

พร้อมมองว่า ตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศตลอด 8 ปี การจัดเก็บรายได้รัฐบาลเข้าเป้าเพียงปีเดียว คือ ปี 62 ซึ่งไม่ได้เป็นเพราะความสามารถในการบริหารงานของรัฐบาล แต่เป็นเพราะรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้เข้าคลังมากขึ้น ส่วน 7 ปีที่เหลือจัดเก็บรายได้พลาดเป้าทั้งหมด สะท้อนการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ หาเงินไม่เป็นมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดวิกฤติโควิดแล้ว

น.ส.จิราพร ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้ยังวนเวียนกับการลงทุนแบบเก่าเหมือน 20-30 ปีก่อน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อวางรากฐานในการสร้างฐานรายได้ใหม่ๆ ให้กับประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ เมื่อเกิดวิกฤติโควิด ประเทศจึงไม่มีเครื่องยนต์ตัวใหม่มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทดแทนการส่งออก การท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวเดิมที่ไม่สามารถทำงานได้ในช่วงวิกฤติโควิด

ในขณะที่รัฐบาลไทยรักไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาก่อนหน้านี้นานแล้ว โดยใช้การสร้างสรรค์ทางปัญญา ผนวกกับการใช้นวัตกรรมมาสร้างมูลค่าใหม่ๆ ให้กับสินทรัพย์เดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้สินค้าและบริการที่มียากในการลอกเลียนแบบ รวมทั้งตั้งองค์กรต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ในเชิงสร้างสรร เช่น TK Park, TCDC, Museum Siam เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยทำนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรพร้อมๆ กับเกาหลีใต้ เราเคยวิ่งอยู่ในลู่วิ่งเดียวกับเกาหลีใต้ แต่น่าเสียดายที่นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย ต้องสะดุดลงเพราะการทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง รัฐบาลทหารเข้ามาพยายามทำลายนโยบายนี้ ยุบหน่วยงาน หรือตัดงบประมาณในหน่วยงานที่เป็นหัวใจของการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

อย่างไรก็ดี รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ได้มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นมา แต่พบว่าการจัดสรรงบประมาณลงไปในแต่ละปีค่อนข้างน้อย ราว 300 ล้านบาท อีกทั้งงบที่ได้รับแต่ละปี ส่วนใหญ่กว่า 80% ยังเป็นงบรายจ่ายประจำ ขณะที่งบลงทุนมีสัดส่วนเพียง 10% กว่าๆ เท่านั้น ทำให้เห็นว่าภารกิจของหน่วยงานสุดยิ่งใหญ่ แต่งบประมาณที่ได้กลับน้อยนิดจนน่าสงสาร

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ถ้าสภาฯ รับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ ประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน แต่อยากให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ได้ถูกตีตกไปพร้อมกับพล.อ.ประยุทธ์ และให้รัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้มาจัดทำงบประมาณฉบับใหม่ เพื่อคืนความหวังให้กับคนไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top