กทม.-กฟน. เร่งลดผลกระทบปัญหาผิวจราจรบริเวณก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ภาพ: facebook.com/chadchartofficial)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับร้องเรียนจากประชาชนเรื่องถนนที่ไม่เรียบจากการก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง บริเวณถนนพระรามที่ 3 จึงได้ลงพื้นที่ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สำนักการโยธา กทม. และสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการปรับปรุงพื้นที่การก่อสร้างบ่อพักฯ ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ได้ระงับการก่อสร้างชั่วคราวทุกจุดเพื่อปรับปรุงฝาบ่อพักฯ ให้เรียบ ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างต่อไป โดยการปรับปรุงฝาบ่อพักฯ เป็นการปรับขอบบ่อให้เรียบกับผิวจราจร ปรับปรุงรูปแบบคานของเดิมที่รองรับผิวจราจรด้านบน ด้วยการรื้อผิวจราจรรอบบ่อเป็นระยะประมาณ 1 เมตร แล้วเทคอนกรีตใหม่ติดกับโครงสร้างของบ่อ ซึ่งจะทำให้การทรุดตัวบริเวณปากบ่อไม่เกิดขึ้นและผิวจราจรเกิดความเรียบเสมอกัน รวมทั้งการทำฝาบ่อให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ใช้จำนวนฝาน้อยลง ลดรอยต่อของฝาบ่อ ทำให้ฝาบ่อเรียบเสมอกับผิวจราจรมากขึ้น

“วันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่หลายฝ่ายได้ร่วมมือกัน คุยกัน ประสานงานกัน เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาโดยใช้เวลาเพียงไม่นาน สำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาผิวจราจรบริเวณบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน จะดำเนินการบริเวณถนนสายต่าง ๆ นอกเหนือจากถนนพระรามที่ 3 ด้วย อาทิ ถนนสาทร ถนนวิทยุ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เพื่อปรับปรุงเรื่องคุณภาพและเป็นการลดความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ด้านการจัดระเบียบสายสื่อสารนั้น ปัจจุบันสายสื่อสารที่อยู่บนดินจะใช้เสาของการไฟฟ้านครหลวงเป็นหลัก ซึ่งจากการหารือกันได้ข้อสรุปว่าต้องเร่งจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยในระยะแรกอาจจะยังไม่ต้องนำสายสื่อสารลงใต้ดิน แต่ต้องแก้ไขความไม่เป็นระเบียบ โดยนำสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้แล้วออก จากนั้นจะต้องมีการประชุมหารือร่วมกันกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง กสทช. และผู้ประกอบการ เพื่อให้ได้แนวทางข้อยุติการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการต่อไป

ในส่วนของปัญหาเรื่องแสงสว่าง ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ไฟดับหลายแห่งที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กทม. ในการลงทุนจัดซื้อหลอดไฟ ส่วนกฟน.จะเข้ามาดูแลในเรื่องการจ่ายค่าไฟ โดยปัจจุบันทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ มีไฟประมาณ 5 แสนดวง และสำนักการโยธามีโครงการที่จะติดตั้งไฟใหม่อีก 10,000 ดวง เพื่อกระจายความสว่างให้กับคนกรุงเทพฯ โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

“สำหรับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หลังจากนี้กรุงเทพมหานครจะต้องประสานงานกับอีกหลายหน่วยงาน อาทิ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมราชทัณฑ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าความตั้งใจจริงและการร่วมมือกันของทุกหน่วยงานจะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้โดยง่าย” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

—————————

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top