SCB EIC ขยับเพิ่ม GDP ปี 65 เป็นโต 2.9% รับท่องเที่ยวฟื้น,คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ย Q3

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า EIC ปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 65 ขึ้นเป็น 2.9% จากเดิม 2.7% ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและภาคบริการ ผ่านการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทยและการผ่อนคลายมาตรการผ่านแดนของหลายประเทศทั่วโลก

EIC ประเมินว่าในปี 65 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 7.4 ล้านคน ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 5.7 ล้านคน และยังมีปัจจัยหนุนจากกิจกรรมในภาคบริการในประเทศยังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากการกลับออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ตามอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐ

ขณะเดียวกันภาคเกษตรจะมีส่วนช่วยสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ โดยที่ผลผลิตภาคการเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางราคาอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามในยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากชาติตะวันตก

ด้านการใช้จ่ายในประเทศที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ รวมถึงรายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่วนอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) จากกลุ่มผู้มีกำลังซื้อจะยังได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อเร่งตัวสูงสุดในรอบ 24 ปี ซึ่ง EIC คาดอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีที่ 5.9% และแนวโน้มการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในระยะต่อไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากความเข้มงวดการดำเนินโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก โดยขณะนี้เริ่มเห็นสถาบันต่างๆออกมาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลง

EIC มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 65 มีแนวโน้มชะลอการเติบโตลง โดยได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงมาอยู่ที่เติบโต 3.2% จากเดิมที่ 5.8% จากความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ปัญหาอุปทานคอขวดกลับมาแย่ลงและยืดเยื้อกว่าที่คาด อีกทั้ง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะในภาคพลังงานและอาหาร ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

และ มาตรการการล็อกดาวน์และควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นจากนโยบาย Zero Covid ของจีน กระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ ซ้ำเติมปัญหาอุปทานโลกเพิ่มเติม จากบทบาทของจีนที่เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ และหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งของโลก รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางเศรษฐกิจหลักที่เร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเพิ่มความผันผวนในภาคการเงินโลก

ทั้งนี้ EIC คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในทุกการประชุมที่เหลือของปีนี้ หรือรวมขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 7 ครั้งตลอดปี 65 ครั้งละ 0.50% ใน 3 รอบการประชุมข้างหน้า ส่งผลให้กรอบบนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอาจแตะระดับ 3% ภายในสิ้นปี รวมถึงเฟดได้เริ่มกระบวนการลดขนาดงบดุลลงแล้วในเดือน มิ.ย.นี้ด้วย EIC จึงติดตามการชะลอตัวลงพร้อมกันของกลุ่มเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน โดยเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งความไม่สมดุลหลังวิกฤตโควิด และหลายเศรษฐกิจมีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) เพิ่มมากขึ้น

“ปัจจัยเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า มาจากผลของปีนี้ที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้น และการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ ได้เข้ามาสร้างความกังวลเข้ามามาก โดยเฉพาะการลงทุนที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงแรงสะท้อนความกังวลการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า และมองข้ามเรื่องเงินเฟ้อและดอกเบี้ยไปแล้ว”

 นายสมประวิณ กล่าว

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หลังจากทิศทางของอัตราเงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นเป็นปัจจัยที่กดดัน ซึ่งการประชุมในครั้งล่าสุด กนง.เริ่มเสียงแตกที่กรรมการบางส่วนเห็นว่าควรปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่ง EIC คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ 1 ครั้งในไตรมาส 3/65 ในอัตรา 0.25% ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีนี้เพิ้มขึ้นเป็น 0.75% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 0.25% ต่อปี เพื่อรอดูผลกระทบที่จะตามมาต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย โดย EIC มองว่า กนง.จะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพราะเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มกลับมาฟื้นตัว การเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากเดินไปจะส่งผลเชิงลบทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่

ด้านแนวโน้มค่าเงินบาทมองว่าในระยะสั้นจะยังเผชิญแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในกรอบ 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ แต่ก็ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายปี 65 จากเศรษฐกิจฟื้นตัว และดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้นตามดุลภาคบริการที่กลับมาฟื้นตัวอย่างมาก ทำให้ประเมินค่าเงินบาทสิ้นปี 65 จะกลับมาแข็งค่าเล็กน้อยในช่วง 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์ แต่อ่อนค่าลงจากประมาณการเดิมที่ 32-33 บาท/ดอลลาร์ จากผลกระทบของเงินเฟ้อสหรัฐที่ทำให้เฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มิ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top