อินเดียเผยเงินเฟ้อภาคค้าปลีกเดือนพ.ค.ปรับตัวขึ้น 7.04% เทียบ 7.79% ในเม.ย.

สำนักงานสถิติแห่งชาติอินเดียเปิดเผยว่า เงินเฟ้อที่อิงกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 7.04% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยชะลอตัวลงเล็กน้อย หลังแตะ 7.79% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี โดยได้แรงหนุนจากราคาอาหารที่ปรับตัวขึ้นในระดับชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังคงอยู่เหนือระดับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ที่ 2-6% เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าธนาคารกลางอินเดียจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนส.ค.

ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น นับตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครนเมื่อเดือนก.พ. ส่งผลให้ราคาผู้บริโภคทั่วโลกปรับตัวขึ้น ธนาคารกลางหลายแห่งจึงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจรอยเตอร์เล็กน้อยที่ 7.10% หลังจากที่รัฐบาลปรับลดภาษีน้ำมันเบนซินและดีเซล รวมถึงออกมาตรจำกัดการส่งออกอาหาร ซึ่งรวมถึงข้าวสาลีและน้ำตาล

นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า การชะลอตัวลงของราคามีแนวโน้มเป็นไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากภาวะคลื่นความร้อนในเดือนมิ.ย. ส่งผลให้ราคาผักปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลปรับลดคาดการณ์การผลิตข้าวสาลี เพราะภัยแล้งในพื้นที่ทางภาคเหนือของอินเดีย

สำหรับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของ RBI นั้นได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (repo rate) 0.50% สู่ระดับ 4.90% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ปรับขึ้น 0.40% ในเดือนเม.ย. พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มิ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top