CDP-ก.ล.ต.ร่วมมือยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในไทย

CDP และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมมือกันสร้างความตระหนักรู้และยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ตามคำแนะนำการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD: Task Force on Climate-related Financial Disclosures)

ความร่วมมือกับ CDP ซึ่งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐาน จะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) รวมถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่

– ร่วมส่งเสริมและพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพแก่ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินในประเทศไทย

– จัดทำข้อมูลเชิงลึก เพื่อสนับสนุนการจัดทำนโยบายและการดำเนินงานด้านการเงินที่ยั่งยืน เพื่อที่ ก.ล.ต. และหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ได้ใช้เป็นแนวทางประกอบการจัดทำแผนงานขับเคลื่อนการเงินที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย

– จัดอบรมและจัดทำรายงานข้อมูลสำหรับภาคธุรกิจและหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยโดยสอดคล้องกับ TCFD

ความร่วมมือระหว่าง CDP และ ก.ล.ต. ในครั้งนี้จะดำเนินการร่วมกันตลอดปี 2565 และถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนภาคธุรกิจในการนำความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผนวกเข้ากับนโยบายในการดำเนินธุรกิจ การวางแผนเชิงกลยุทธ์ และการจัดการความเสี่ยง รวมถึงปฏิบัติตามแนวทางการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากล

Mr. Donald Chan, Managing Director for Asia Pacific at CDP กล่าวว่า CDP มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับ ก.ล.ต. ภายใต้โครงการนี้ ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมตลอด 20 ปี ความร่วมมือในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเปิดเผยข้อมูลของผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน โดยการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลตาม TCFD recommendation และการกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกัน ซึ่งในปัจจุบันการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในตลาดการเงินโลก และเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (IPCC : Intergovernmental Panel on Climate Change) ได้ประกาศว่า การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเป็นวิธีการที่สำคัญวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของตลาด

ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลตาม TCFD recommendation ถือเป็นมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานฉบับแรกของโลก และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนามาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินโดย International Sustainability Standards Board (ISSB) โดยทุก ๆ บริษัทต่างให้ความสนใจในการพัฒนามาตรฐานครั้งนี้ เพื่อให้มั่นได้ใจได้ว่าการเปิดเผยดังกล่าวสอดคล้องกับกรอบการทำงานนี้”

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ก.ล.ต. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ CDP ในโครงการนี้ โดยในฐานะหน่วยงานภาครัฐแห่งแรกของไทยที่ประกาศเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD supporter) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 และได้ดำเนินการมาตรการหลายด้านเพื่อสนับสนุน ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) โดยการผลักดันสู่การใช้แบบ One report ในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ซึ่งรวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ความร่วมมือนี้จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้ภาคธุรกิจบูรณาการความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยนำแนวทาง TCFD recommendations และการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลไปประยุกต์ใช้ในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ได้อย่างมีคุณภาพ โดย ก.ล.ต. พร้อมสนับสนุนและร่วมกับ CDP ตลอดจนร่วมมือกับทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)”

อนึ่ง CDP เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งดูแลเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานสากล สำหรับองค์กรบริษัท หรือภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก และมีการทำงานร่วมกับสถาบันการเงินมากกว่า 680 แห่ง ด้วยทรัพย์สินมูลค่ากว่า 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ CDP ผลักดันและสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การป้องกันทรัพยากรน้ำและป่าไม้

ทั้งนี้ CDP มีความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ กว่า 14,000 แห่งทั่วโลกในการเปิดเผยข้อมูลผ่าน CDP โดยในปี พ.ศ. 2564 โดยมีบริษัทมากกว่า 13,000 แห่งซึ่งมีมูลค่ากว่า 64% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดโลก และอีกกว่า 1,100 เมือง รัฐ และภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ CDP มีฐานข้อมูลการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีการนำ CDP scores มาใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อประกอบการตัดสินใจการลงทุนและการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อมุ่งสู่การมีคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ โดย CDP เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งโครงการ Science Based Targets, We Mean Business Coalition, The Investor Agenda และ Net Zero Asset Managers imitative

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มิ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top