THAI จัดประชุมเอเย่นต์ฟื้นความเชื่อมั่นตลาดอินเดีย-ปากีสถาน-บังคลาเทศ

บมจ.การบินไทย (THAI) เดินหน้าจัดการประชุม “THAI Networking : Discover Brand New Sky” อย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้ ได้เชิญตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารที่มีบทบาทสำคัญในตลาดอินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ เข้าร่วมประชุม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เตรียมความพร้อมรองรับการกลับมาเดินทางของนักเดินทาง พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยมี นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ THAI เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารการบินไทย สายการบินไทยสมายล์ และผู้แทนจากองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ร่วมงาน

ในการประชุมครั้งนี้ บริษัท การบินไทยฯ ได้นำเสนอความคืบหน้าของกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์ที่สำคัญ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ อาทิ ด้านการขาย การตลาด และการหารายได้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารและพันธมิตรในอินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศที่จะช่วยสร้างความมั่นใจ และช่วยประชาสัมพันธ์ความพร้อมของการบินไทยในการรองรับการกลับมาเดินทางของนักท่องเที่ยว ดังนี้

Feasible Products and Improved Services

การปรับแบบเครื่องบินและเส้นทางบินที่เหมาะสม สำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศ ให้สามารถสร้างรายได้และทำกำไรอย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาเส้นทางบินผ่านความร่วมมือกับไทยสมายล์ และสายการบินพันธมิตร Star Alliance เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายเส้นทางบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการบินไทยมีปริมาณการจองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจำนวนที่นั่งในเส้นทางตะวันตก รวมทั้งอินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ ในเดือนเมษายน 2565 มีจำนวนที่นั่งที่เดินทางแล้ว สูงกว่าเดือนมีนาคม 2565 มากกว่า 55%

Revenue & inventory management

การพัฒนาช่องทางการขาย ทั้งผ่านตัวแทนจำหน่ายและช่องทางออนไลน์ (Online Travel Agent) เพื่อความสะดวก และสอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยกำหนดราคาที่คุ้มค่าและยังสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งสร้างโอกาสทางการขายใหม่ๆ โดยกำหนดเงื่อนไขบัตรโดยสารต่างๆ ให้ง่ายและมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น

Cargo Revenue Lead

การเพิ่มส่วนแบ่งในธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ และพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตร ซึ่งคาร์โก้การบินไทย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2565 มีรายได้สูงกว่าปีที่แล้วในเดือนเดียวกัน

Cost Efficiency Distribution Channels

การเพิ่มประสิทธิภาพการขายและการหารายได้ โดยมุ่งเน้นเส้นทางบินที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มยอดขายและสร้างผลกำไรสูงสุด และวางกลยุทธ์ในการขาย นอกเหนือจากเส้นทางบินตรงสู่กรุงเทพฯ ยังเน้นการขายกลุ่มผู้โดยสารเดินทางข้ามภูมิภาค โดยใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางในการต่อเครื่อง เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค อาทิ จากออสเตรเลีย เอเชียตอนเหนือและตอนใต้ รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สายการบินไทยสมายล์) สู่ทวีปยุโรปและเอเชียตะวันตก

โดยในตารางการบินฤดูร้อน ปี 2565 การบินไทยทำการบินสู่ 34 เส้นทางบิน และล่าสุดทำการบินเพิ่มอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ – เดนปาซาร์ เริ่มทำการบินเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 และเส้นทางบิน กรุงเทพฯ – เจดดาห์ เริ่มวันที่ 19 สิงหาคม 2565 เป็นเส้นทางบินใหม่ที่ขานรับความสำเร็จจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ ไทย – ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งการเปิดเส้นทางบินดังกล่าว นอกจากเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในฐานะสายการบินแห่งชาติ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้าและการท่องเที่ยว ระหว่างสองประเทศ ยังเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารจากประเทศในแถบภูมิภาคอินโดจีน ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังประเทศในตะวันออกกลางได้อย่างสะดวกสบาย

Customer & Marketing

การปรับปรุงการให้บริการ โดยมุ่งเน้นแนวทางยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกจุดสัมผัสบน Customer Journey

มุ่งเน้นการตลาดดิจิทัล เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของลูกค้า ในการเข้าถึงบริการของการบินไทยผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่สะดวกขึ้น ตลอดจนบริหารจัดการการใช้งาน Social Media แต่ละ Platform ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยล่าสุดบริษัทฯ เพิ่มทางเลือกใหม่ให้ลูกค้าด้วยบริการ TG Chatbot ผ่านชื่อ “MAI” (M-Management A-Assistant I-Information) ซึ่งเป็นระบบตอบข้อความอัตโนมัติบนเว็บไซต์และแพลตฟอร์ม Social Media เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร และรองรับปริมาณความต้องการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น

บริษัทฯ รับมอบเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-300ER ลำใหม่ จำนวน 3 ลำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถฝูงบินของบริษัทฯ และรองรับความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมยกระดับการให้บริการด้วยห้องโดยสารชั้นหนึ่ง หรือ Royal First Class เครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-300ER เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประหยัดเชื้อเพลิง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้บริการชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ ชั้นประหยัด รวม 303 ที่นั่ง พร้อมระบบสาระบันเทิงที่ทันสมัย ซึ่งบริษัทฯ ได้นำมาให้บริการในเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ลอนดอน เป็นลำดับแรก เริ่มปลายเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้แนะนำบริการใหม่ อาทิ สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นของสมาชิกบัตร Royal Orchid Plus โปรแกรมท่องเที่ยว Royal Orchid Holidays การจองอาหารล่วงหน้า และระบบสาระบันเทิงบนเครื่องบิน อีกทั้ง ร่วมมือกับโครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ที่พัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการรังสรรค์ “Black Silk Blend” กาแฟสูตรพิเศษให้บริการผู้โดยสารในชั้นธุรกิจ และการนำ “ช็อกโกแลตกานเวลา” ช็อกโกแลตแบรนด์ไทยที่ได้รับรางวัลระดับโลก มาให้บริการผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ ซึ่งการนำทั้งสองผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาให้บริการ นอกจากเป็นสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่น่าประทับใจให้กับผู้โดยสาร ยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรไทยและผู้ประกอบการรายย่อยในการสร้างงานเสริมอาชีพ และช่วยยกระดับผลผลิตของเกษตรกรไทยที่มีคุณภาพจากไทยไปสู่ตลาดสากล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top