ผู้ว่าฯ กทม. จัด 7 จุดรองรับม็อบชุมนุมได้ตามกฎหมาย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ภาพ: facebook.com/chadchartofficial)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเปิดสถานที่ในกรุงเทพฯ 7 แห่งให้มีการชุมนุมได้ แต่ผู้จัดจะต้องมีการแจ้งต่อสำนักงานเขตล่วงหน้า เพื่อให้มีเวลาได้จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ

1.1 ลานคนเมือง เขตพระนคร
1.2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
1.3 ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา (ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36) เขตจตุจักร
1.4 ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง เขตพระโขนง
1.5 ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี
1.6 ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ
1.7 สวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งขัน

2. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการใช้สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ

ผู้จัดการชุมนุมที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะในสถานที่ตามประกาศนี้ ต้องแจ้งการใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ก่อนจัดการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง เพื่อที่สำนักงานเขตพื้นที่จะได้แจ้งให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะทราบ และมีเวลาเตรียมการเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้พื้นที่ให้กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมตามความเหมาะสม

ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งใช้สถานที่เพื่อจัดการชุมนุมสาธารณะได้ภายในกำหนดเวลา ให้ผู้จัดการชุมนุมแจ้งใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ก่อนเริ่มการชุมนุม เพื่อให้การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้แก่ผู้เข้าชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ครบถ้วน ผู้จัดการชุมนุมจึงควรแจ้งสำนักงานเขตล่วงหน้าก่อนวันชุมนุมตามความเหมาะสม

ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ให้เกิดความเสียหาย และหากทรัพย์สินของทางราชการ มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการชุมนุมสาธารณะ ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทุกประการ

การชุมนุมสาธารณะในสถานที่ตามประกาศนี้ ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต้องปฏิบัติตาม หมวด 1 บททั่วไป หมวด 3 หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม หมวด 4 การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการดูแลการชุมนุมสาธารณะ แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 รวมทั้งกฎหมาย กฎ ระเบียบ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโตยเคร่งครัด

หากสำนักงานเขตพื้นที่ หรือเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตรวจพบว่า ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดข้างต้น ก็จะได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มิ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top