ในช่วงตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก รวมถึงคริปโทเคอร์เรนซี อยู่ในช่วงขาลง นักลงทุนหลายคนต่างกำหมัดกำมือแน่น ไม่รู้ทิศทางจะเป็นอย่างไรต่อไป จะถัวเพิ่ม หรือ Cut Loss อีกทั้งยังไม่รู้ว่าตลาดขาลงจะยาวนานขนาดไหน ราคาจะร่วงลงมากกว่านี้หรือไม่
Crypto Insight จะพาทุกคนไปรู้จักกับอีกหนึ่งรูปแบบบริการใหม่บนโลกบล็อกเชนที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ลงทุนในการรับมือตลาดขาลงกับนายศิวนัส ยามดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสชัวร์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ให้บริการทางด้านบล็อกเชน รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบธุรกิจแบบครบวงจร
นายศิวนัส กล่าวว่า ด้วยลักษณะของเหรียญคริปโทฯ ที่มีหลายแบบ บางเหรียญสามารถนำมาเทรดได้ บางเหรียญสามารถนำไปฝาก (Staking) หรือฟาร์มเหรียญ (Yield Farming) เพื่อรับผลตอบแทนได้ บางคนอาจเทขาย (Panic Sell) เพื่อป้องกันการขาดทุนมากกว่าเดิม ในขณะที่บางกลุ่มก็เปลี่ยนมาถือ Stable Coin หรือผลงาน NFT ที่ชื่นชอบ
ตลาดคริปโทฯ นับว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีเม็ดเงินมหาศาลไหลเวียนอยู่ ศักยภาพในการเติบโตสูง ประกอบกับจำนวนประชากรในประเทศไทยที่ถือครองคริปโทฯ สูงขึ้นเรื่อย ๆ กว่า 3 ล้านคน บางกลุ่มตั้งใจถือครองเพื่อเป็นหลักทรัพย์ (Save Heaven Asset) ก็ดี หรือแม้แต่บางส่วนตั้งใจถือเพื่อเก็งกำไรก็ดี บวกกับความนิยมในคริปโทฯ ทำให้มีหลายองค์กร หลายกลุ่มคน เริ่มนำคริปโทฯ มาใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ
แต่ด้วยความผันผวนของราคา ทำให้คริปโทเคอร์เรนซีไม่สามารถเป็นตัวกลางในการชำระเงินได้อย่างเต็มรูปแบบ นั่นเป็นที่มาที่ทำให้ แอสชัวร์ มองเห็นถึงโอกาสธุรกิจใหม่ ที่สามารถนำคริปโทฯ ที่นักลงทุนถือครอง มาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อเพื่อรับเงินสด (Fiat Money) ไปใช้เสริมสภาพคล่อง ภายใต้แบรนด์ PEER.Money โดยอาศัยใบอนุญาตประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อของพันธมิตร
บริการดังกล่าวผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้อง Cut Loss ขายคริปโทฯ ที่ตัวเองถือออกไปในยามที่เงินขาดมือ และตลาดอยู่ในขาลง แต่สามารถนำคริปโทฯ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อนำเงินสดไปใช้ได้ จากนั้นเมื่อสภาพคล่องของตนเองดีขึ้นก็สามารถนำเงินสดมาคืนพร้อมดอกเบี้ยกู้ยืม เพื่อรับคริปโทฯ ของตัวเองคืนกลับไป
“จากโมเดลธุรกิจนี้ ที่ปัจจุบันมีผู้ถือครองคริปโทฯ ทั่วโลก แต่หากเกิดการขาดสภาพคล่องขึ้นมา บริการลักษณะนี้ ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับนักลงทุนสายคริปโทฯ ได้เป็นอย่างดี”นายศิวนัส กล่าว
นายศิวนัส กล่าว
นายศิวนัส เปิดเผยว่า PEER.Money ให้บริการปล่อยสินเชื่อแก่บุคคลรายย่อยในประเทศไทยผ่าน บริษัท บอสเวลล์ ดิจิทัล โฮลดิ้ง จำกัด ที่จับมือร่วมกับ “Big Money” ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อย โดยคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด และด้วยการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มสากลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทำให้ PEER.Money มีเป้าหมายขยายบริการในลักษณะนี้ไปสู่ประเทศอื่น ๆ ด้วยความร่วมมือกับผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยในแต่ละประเทศ
แพลตฟอร์ม PEER.Money ปล่อยเงินกู้เป็นเงินสด (Fiat Currency) แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นที่ปล่อยเป็นสกุลคริปโทฯ และคิดอัตราดอกเบี้ยตามเกณฑ์และกฎหมายภายใต้ประเทศนั้น ๆ ดังนั้น เมื่อกรณีที่เกิดการ Liquidate ตัวแพลตฟอร์มจะไม่สามารถยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Collateral) ได้ทันที แต่จะดำเนินการตามสัญญาเงินกู้เป็นหลัก หากส่งดอกเบี้ยตามกำหนดก็จะไม่สามารถยึดทรัพย์นั้นได้จนกว่าจะนำเงินต้นมาชำระครบ เพราะมีเป้าหมายช่วยให้ลูกค้าที่มี Digital Asset สามารถนำมาเป็นสภาพคล่องได้จริง
นายศิวนัส กล่าวว่า นอกจาก PEER.Money ยังมี Neko ซึ่งเป็นโปรเจ็คต์ที่คอยดูแลและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Startup พร้อมทั้งช่วยแนะนำการระดมทุนสำหรับโปรเจ็คต์ที่มีศักยภาพ เป็นโอกาสใหม่สำหรับ Startup สายคริปโทฯ ซึ่งเราจะพบว่าเด็กรุ่นใหม่มีแนวความคิดที่ทันสมัยสามารถตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบันได้ดี และเชื่อว่า Neko จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยเหลือ Startup เหล่านี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มิ.ย. 65)
Tags: Crypto Insight, Cryptocurrency, SCOOP, คริปโทเคอร์เรนซี, บล็อกเชน, ศิวนัส ยามดี, แอสชัวร์ เทคโนโลยี