ธปท.ยันกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% เหมาะสม แม้ระยะสั้นผันผวนจากปัจจัยเหนือควบคุม

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Analyst Meeting ว่า จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในทั่วโลก ที่ทำให้เกิดภาวะ New Normal ในด้านต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากผลของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อของทั่วโลกเร่งตัวสูงขึ้นอย่างที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ และนำมาสู่การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ต้องปรับเปลี่ยนไปจากเดิม

ทั้งนี้ กนง.ไม่มีความจำเป็นที่ จะต้องปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไปจากระดับ 1-3% ซึ่งเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อระยะปานกลางที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่ยอมรับว่า เงินเฟ้อในระยะสั้นอาจจะมีความผันผวนและหลุดกรอบเป้าหมายไปบ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม แต่เชื่อว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อระยะปานกลางที่ 1-3% นี้ มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยแล้ว

พร้อมมองว่า การใช้นโยบายการเงินไม่ได้เป็นส่วนหลักที่ดึงให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย แค่ช่วยคลี่คลายเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง แต่การใช้นโยบายการเงิน ก็เพื่อช่วยเป็นกันชนให้แน่ใจว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจ จะไม่ไปเสริมให้เงินเฟ้อระยะปานกลางสูงขึ้น ซึ่งไม่อยากให้มองว่าดอกเบี้ยจะมาเป็นพระเอกที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง

โดยแต่ละประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า-เร็วไม่เท่ากัน ก็จะใช้สปีดในการปรับนโยบายการเงินที่แตกต่างกันไป ดังจะเห็นได้จากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวเร็วและแรง จึงทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างรวดเร็ว ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสะกัดเงินเฟ้อที่สูง ในขณะที่ประเทศไทย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะช้ากว่า เพราะต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก

“ดังนั้น โจทย์ที่เศรษฐกิจไทยเผชิญ คือ การ take off แบบราบรื่น ความท้าทายของนโยบายการเงินของไทย คือ การถอนคันเร่งที่พอเหมาะ และถูกจังหวะ เพื่อให้เศรษฐกิจได้เคลื่อนไปได้เอง ไม่ร้อนแรงจนเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลซ้ำเติมเงินเฟ้อ”

นายปิติกล่าว

พร้อมระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มมีภาพที่ชัดเจน โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 66 จะขยายตัวได้ที่ 4.2% ซึ่งการที่ GDP ขยายตัวในระดับดังกล่าวถือว่าใกล้เคียงกับระดับศักยภาพ ดังนั้น เมื่อมองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ชัดเจน หากไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ก็จะเกิดความเสี่ยงที่สร้างแรงกดดันด้านอุปสงค์รวมกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ

“กนง. จึงพยายามจะไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป ไม่ให้แรงกดดันด้านอุปสงค์ของเงินเฟ้อเกิดขึ้น…เรื่องการถอนคันเร่ง เราได้มีการคุยกันภายใน ไม่ใช่แค่พูดกันใน กนง.รอบที่แล้ว แต่กรรมการเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสื่อสารให้ชัดเจน”

ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ สายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุ

ส่วนที่มีการมองว่าการประชุมกนง.ในรอบถัดไป คือ เดือน ส.ค. เป็นการเว้นระยะห่างเกินไป ท่ามกลางปัจจัยที่ผันผวนในปัจจุบันนั้น นายปิติ ชี้แจงว่า การประชุม กนง.ที่จัดห่างกัน 6-8 สัปดาห์ เนื่องจากเพื่อให้ กนง.ได้ข้อมูลที่มีนัยสำคัญเพียงพอต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละครั้ง และต้องการจะสื่อสารให้ชัดเจนกับผู้ร่วมตลาด ไม่อยากจะมีเซอร์ไพร์สตลาด แต่คงไม่สามารถบอกได้ชัดว่าแต่ละครั้งจะทำมาก-น้อยเพียงใด โดยเห็นว่าการประชุม กนง.ที่เหลืออีก 3 ครั้งของปีนี้ ถือว่ามีความเหมาะสมแล้ว

“กนง.ไม่มีแผนที่จะประชุมนัดพิเศษ เพราะถ้ามีนัดพิเศษ จะต้องมีเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น จนจำเป็นต้องเรียกประชุม ถ้าเราดูจาก flow ข้อมูลตอนนี้ ก็ถือว่าการประชุมตามที่กำหนดไว้มีความเหมาะสม”

นายปิติ กล่าว

นายปิติ ยังกล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทว่า การที่เงินบาทอ่อนค่า ย่อมส่งผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ หรือสินค้าต่างๆ ต้นทุนพลังงาน ซึ่งล้วนแต่เป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ ดังนั้นเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นสิ่งที่ กนง.ยังจับตาใกล้ชิด แต่จากที่ได้พิจารณาดูแล้ว ในปีนี้เงินบาทที่อ่อนค่ายังสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค และการที่เงินบาทอ่อนค่ามีปัจจัยหลักมาจากการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ และมีโอกาสที่บาทจะกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงปลายปี

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. มองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเห็นทิศทางที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวโน้มการผ่อนคลายเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ

โดยในไตรมาส 2/65 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 2 หมื่นคน/วัน และคาดว่าในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นไปที่ราว 3 หมื่นคน/วัน ซึ่งทำให้ ธปท. คาดการณ์ว่าทั้งปีจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยราว 6 ล้านคน ส่วนปี 66 ที่ 19 ล้านคน นอกจากนี้ ตลาดแรงงานเริ่มทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมา โดยจำนวนผู้ว่างงาน และเสมือนว่างงานลดลงต่อเนื่อง

ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนั้น การประชุม กนง.ล่าสุด ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 65 ขึ้นมาอยู่ที่ 6.2% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.9% โดยเหตุผลหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดการส่งผ่านไปยังต้นทุนสินค้าต่างๆ และการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ซึ่ง กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะขึ้นไปสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ จากนั้นจะค่อยทยอยลดลงในช่วงไตรมาส 4 และ ไตรมาส 1/66 ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่กรอบเป้าหมายระยะปานกลางที่ 1-3% ได้ในช่วงกลางปี 66

นายสักกะภพ กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันจะเห็นดอกเบี้ยเริ่มมีการปรับตัวบ้างแล้วในส่วนของตลาดพันธบัตร แต่ในฝั่งของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขยับมาก เพราะในภาพรวมเศรษฐกิจแม้จะเริ่มฟื้นตัวชัดขึ้น แต่ก็ยังเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และบางภาคส่วนยังเปราะบาง ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจในระยะถัดไปจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะจุดมากขึ้น

“แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่ก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป บางภาคส่วนยังเปราะบาง ดังนั้นจะต้องปรับมาตรการจากที่เป็นแบบเหวี่ยง มาดูแลเฉพาะกลุ่มมากขึ้น จะมีมาตรการแพ็คเกจออกมาเฉพาะจุด ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ทำอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่ม implementation”

นายสักกะภพ กล่าว

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการที่กระจายไปในหลายหมวดสินค้ามากขึ้นสั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น ภายหลังจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ด้านเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อหลายตัวมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น และยังมีความเสี่ยงขาสูง หากเศรษฐกิจฟื้นตัวจนเกิดแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์

โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ปรับสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 2% ในเดือนมี.ค.-เม.ย.65 และมากกว่า 2% ในเดือนพ.ค. 65 ทั้งนี้ หากทัศนคติเกี่ยวกับเงินเฟ้อเปลี่ยนไปจากเดิม อาจนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง เช่น การพยายามตั้งราคาสินค้า หรือต่อรองค่าจ้างตามอัตราเงินเฟ้อสูง

นายสุรัช ระบุว่า นโยบายการเงินจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างทันการณ์ และให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป โดยไม่ให้สาธารณชนคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เหมาะสมจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน ซึ่งจะทำให้สามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้

อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลาง จะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1-3% แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะสั้นจะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top