เกษตรฯ เร่งขับเคลื่อนนโยบายอาหารแห่งอนาคต เล็งเจาะตลาดสาหร่าย มูลค่า 5 แสนลบ.

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมประมง ได้ผนึกความร่วมมือกับทุกภาคส่วนคิกออฟ “นโยบายอาหารแห่งอนาคต” ด้วยการจัดงาน “อนาคตสาหร่ายทะเลในประเทศไทย Seaweed : The Next Future” ในวันที่ 28 มิ.ย.65 เวลา 09.00 – 16.00 น. โดยกรมประมงเป็นเจ้าภาพร่วมกับมูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท (WCF : Worldview Climate Foundation) และมูลนิธิเวิลด์วิว อินเตอร์เนชั่นแนล (WIF : Worldview International Foundation)

งานเสวนาครั้งนี้ จะฉายภาพสถานการณ์ของสาหร่ายทะเลในระดับประเทศ ภูมิภาคจนถึงระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับสาหร่ายทะเลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อพัฒนาและยกระดับสาหร่ายทะเลจากหลากหลายภาคส่วนในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิชาการ ตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติการ ผู้ประกอบการ นักวิจัย ผู้พัฒนานวัตกรรมการแปรรูป ภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาและยกระดับสาหร่ายทะเลของประเทศไทย รวมทั้งขยายความรู้ความเข้าใจขอบเขตความร่วมมือด้านสาหร่ายทะเล ตลอดจนโอกาสในการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวประมงของไทยอย่างยั่งยืน

“นโยบายอาหารแห่งอนาคต” มุ่งยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรของไทยสู่เกษตรมูลค่าสูง เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ใหม่ให้เกษตรกร และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง รวมทั้งตอบโจทย์วาระเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Ocean Economy) เพื่อเป็นส่วนร่วมในทศวรรษวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งสหประชาชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (64 – 73) และการลดภาวะโลกร้อนจากผลกระทบของก๊าซเรือนกระจก จึงดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสาหร่ายทะเล (seaweed) เป็นอาหารแห่งอนาคตตัวใหม่ เนื่องจากปัจจุบัน การผลิตสาหร่ายทะเลเติบโตอย่างรวดเร็ว มีผลผลิตทั้งหมดทั่วโลกในปี 62 ไม่น้อยกว่า 35 ล้านตัน มีมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท เนื่องจากมีศักยภาพที่จะนำไปใช้ในอาหาร อาหารเสริม อาหารสัตว์ ปุ๋ย เชื้อเพลิงชีวภาพ เวชภัณฑ์ เครื่องสำอางซีรั่มชะลอความแก่ เป็นต้น อีกทั้งการเพาะปลูกสาหร่ายสามารถช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยดักจับคาร์บอนไดออกไซด์

ดังนั้นอุตสาหกรรมสาหร่ายทะเลจึงมีศักยภาพในวงกว้าง สาหร่ายไม่เพียงเป็นแหล่งที่ให้ปริมาณโปรตีนในระดับสูงเท่านั้น หากยังมีสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย ได้แก่ วิตามินบี แคลเซียม ธาตุเหล็ก กรดไขมันที่จำเป็น และใยอาหารสูง นอกจากนี้ สาหร่ายยังมีกรดไขมันบางชนิดที่พบไม่ได้ในพืชชนิดอื่น ได้แก่ กรดไขมันที่มีโอเมก้า 3 และ 6 เช่นEPA และ DHA ทำให้ผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมจากสาหร่ายมีคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มรสชาติของอาหารให้อร่อยยิ่งขึ้นด้วยกรดกลูตามิก ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ทำให้เกิดรสอูมามิหรือรสกลมกล่อมในอาหารอีกด้วย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top