นักวิเคราะห์ชี้ขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยแก้เงินเฟ้อ สาเหตุหลักมาจากซัพพลายชะงัก

นายพอล แกมเบิลส์ หุ้นส่วนผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาเอ็มบีเอ็มจี กรุ๊ป (MBMG Group) เปิดเผยผ่านรายการ “สตรีท ซายส์” (Street Signs) ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีเมื่อวานนี้ (4 ก.ค.) ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมดีมานด์และเงินเฟ้อนั้น ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เนื่องจากสาเหตุหลักที่ทำให้ของแพงขึ้นมาจากภาวะซัพพลายเชนหยุดชะงัก

ภาวะดังกล่าวคือการที่ผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ทั่วโลกไม่สามารถผลิตหรือส่งมอบสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงล็อกดาวน์สกัดโควิด-19 นอกจากนี้ มาตรการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกใช้ลงโทษรัสเซียเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เป็นอุปสรรคต่อซัพพลายด้วย โดยเฉพาะกับสินค้าโภคภัณฑ์

“ซัพพลายเป็นเรื่องที่บริหารยากมาก เราจะพบได้ว่าแค่จะทำให้การจัดหาสินค้ากลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกครั้งก็เป็นความท้าทายเฉพาะตัวอย่างยิ่งสำหรับแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มธุรกิจแล้ว” นายแกมเบิลส์กล่าว

นายแกมเบิลส์อ้างถึงวิกฤตพลังงานที่ยุโรปกำลังเผชิญเมื่อรัสเซียขู่จะงดส่งก๊าซ โดยกล่าวว่า “ในวันประกาศอิสรภาพของอเมริกาเช่นนี้ นี่น่าจะเรียกว่า เป็นวันพึ่งพาอาศัยร่วมกัน โดยยุโรปรนหาที่ เพราะปัญหาส่วนใหญ่เหล่านี้มาจากผลพวงของมาตรการคว่ำบาตร”

“และทางเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) เป็นรายแรก ๆ ที่รับสารภาพว่า นโยบายการเงินแก้ปัญหาซัพพลายชะงักไม่ได้เลย แล้วจากนั้นเฟดก็หันไปขึ้นดอกเบี้ยแทน”

อย่างไรก็ดี รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกมุ่งแก้ปัญหาเงินเฟ้อโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ด้วยเจตนาจะลดความร้อนแรงของฝั่งดีมานด์ให้อยู่ในระดับเดียวกับฝั่งซัพพลายที่มีจำกัด

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top