IPOInsight: CH เปิดสูตรสำเร็จร่วม 100 ปีก้าวยืนหนึ่ง Food Tech

แม้จะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่อุตสาหกรรมอาหารยังคงสามารถเติบโตได้ดี บวกกับภาวะสงครามในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอาหารแปรรูปมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการส่งออกยังได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่า เป็นโอกาสให้ บมจ.เจริญอุตสาหกรรม (CH) เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ด้ววยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 160 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 20% ของจำนวนหุ้นสามัญภายหลัง IPO

9 ทศวรรษผู้ผลิตอาหารแปรรูป

นายศักดา ศรีแสงนาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CH เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูปมายาวนานกว่า 96 ปี เริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อมายังรุ่นสู่รุ่น สร้างการเติบโตด้วยการเดินหน้าพัฒนาและออกสินค้าใหม่ที่หลากหลายอย่างสม่ำเสมอใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ 1) ปลากระป๋อง 2) ผลไม้อบแห้ง และ 3) ขนมคบเคี้ยว

“บริษัทเรากำลังย่างเข้าปีที่ 97 ซึ่งยุคนี้ก็นับว่าเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว เราเริ่มธุรกิจจากการผลิตน้ำปลา ซีอิ๊ว ขยายมาทำปลากระป๋อง จากนั้นก็ทำผลไม้กระป๋อง แต่พบว่าทำกำไรได้ไม่ดีก็เลิกผลิตไป เปลี่ยนมาเป็นผลไม้อบแห้ง ซึ่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่สร้างการเติบโตให้กับบริษัท”

ปัจจุบัน รายได้จากผลไม้อบแห้งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ทำยอดขายอันดับ 1 คือ มะม่วงอบแห้ง ส่วนปลากระป๋องทำสีดส่วนรายได้กว่า 10% และ ขนมคบเคี้ยว ที่เพิ่งเริ่มผลิตได้ประมาณ 2-3 ปี มีสัดส่วนรายได้ราว 0.5% โดยบริษัทเน้นการส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศกว่า 70% ในตลาดกว่า 50 ประเทศทั่วโลกเกือบทุกทวีป ซึ่งตลาดหลักคือสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย

เปิดสูตรสำเร็จพัฒนาสินค้าใหม่ต่อเนื่อง-จับเทรนด์ Healthy Food

“ปกติแล้วอุตสาหกรรมอาหารเติบโตไปกับจำนวนประชากรของโลก ไม่ได้หวือหวามาก นอกจากจะมีผลิตผภัณฑ์ใหม่ ๆ รสชาติใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งเป็นปัจจัยหลักให้เราเติบโตได้เพิ่มขึ้น เหมือนร้านอาหารดัง ๆ ออกเมนูใหม่ เราเติบโตไปแบบนั้นมากกว่าจะเติบโตแบบ organic”นายศักดา กล่าว

กลยุทธ์สำคัญตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท คือการออกสินค้าใหม่ ๆ มาตอบสนองลูกค้าอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีทีม Research and Development (R&D) ที่มีศักยภาพ ประกอบกับการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Business-to-Business (B2B) ทำให้บริษัทมีความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า และร่วมมือกับลูกค้าในการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ก้าวนำคู่แข่งอย่างน้อย 1 ก้าวตลอดเวลา

“เจริญอุตสาหกรรม มีชื่อภาษาจีนคือ “จินฮวย” ที่แปลว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใหม่อยู่เสมอ นี่คือกลยุทธ์ที่บรรพบุรุษให้เรามาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท แล้วเราก็ดำเนินการตามกลยุทธ์นั้น เราไม่เคยใช้กลยุทธ์ด้านราคาสินค้า แต่เราจะหาสินค้าใหม่ ๆ มาให้กับบริษัทเราอยู่ตลอดเวลา ยิ่งให้เร็วกว่าคู่แข่งซัก 1 ก้าว เราก็จะสามารถทำกำไรและสร้างการเติบโตให้กับบริษัทเราได้

รวมถึงการดูแลลูกค้า เนื่องจากขายเป็น B2B เป็นหลัก การดูแลลูกค้าค่อนข้างสนิทชิดเชื้อ เข้าคลุกวงใน และเนื่องจากเรามีจุดแข็งของเราเรื่องการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เราก็จะ Co-creation กับลูกค้า สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ กับลูกค้าอย่าสม่ำเสมอ เมื่อเขามีไอเดียมาบอกเราถ้าเราเห็นด้วยเราก็จะร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมา” นายศักดา กล่าว

นายศักดา กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทเดินกลยุทธ์ภายใต้ Vision ใหม่ที่ใช้มา 2-3 ปีแล้วอย่าง “Innovative Healthy Food” ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก ทุกคนต้องการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพในราคาเหมาะสม เราจึงได้เร่งวิจัยพัฒนาสินค้าในกลุ่มนี้ออกมาสู่ตลาด โดยที่ผ่านมาได้ออกสินค้าใหม่อย่าง Granola Ball ที่มีส่วนผสมหลักคือธัญพืชที่ดีต่อสุขภาพ , Plant-Based Snack ให้โปรตีนโดยไม่ต้องบริโภคเนื้อสัตว์ และผลไม้อบแห้งที่ใส่ Probiotics ทำให้ผู้รับประทานได้ประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร เป็นต้น

ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานในไทย 3 แห่ง คือ ท่าฉลอม ผลิตสินค้าทุกประเภท, ท่าทราย เป็นจุดรับวัตถุดิบมาปอกและตัดแต่ง และ แม่กลอง ผลิตกระป๋อง รวมกำลังผลิตราว 1 หมื่นตัน/ปี และ โรงงานในกัมพูชา ซึ่งผลิตผลไม้อบแห้งกำลังผลิต 2 พันตัน/ปี

เป้าหมายแรกดันผลงานปี 65 ฟื้นกลับไปเท่าก่อนโควิด,คุมต้นทุน-บาทอ่อนรักษาระดับกำไร

นายศักดา กล่าวว่า แผนงานสำคัญในปี 65 นี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะฟื้นผลประกอบการกลับไปสู่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เพราะช่วงโควิดส่งผลกระทบทำให้รายได้ปรับลดลง แต่หลังจากโควิดคลี่คลายจะกลับไปเติบโตได้เหมือนเดิม เพราะความต้องการสินค้าของบริษัทกลับมาเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ภาพรวมผลประกอบการในปี 62-64 บริษัทมีรายได้จากการขาย 1,656.76 ล้านบาท 1,634.47 ล้านบาท และ 1,442.28 ล้านบาท ตามลำดับ และกำไรสุทธิ 7.90 ล้านบาท 67.29 ล้านบาท และ 67.07 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 1/65 บริษัทมีรายได้จากการขาย 395.03 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 7.98 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทเดินหน้าแผนควบคุมและจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มต้นด้วยการวางแผนผลิตสินค้าตั้งแต่ในช่วงต้นปี เพื่อใช้คำนวณต้นทุนและจัดหาวัตถุดิบได้อย่างเหมาะสมเพื่อเริ่มจัดซื้อก่อนเข้าสู่ฤดูกาลผลิต และแม้ว่าในปัจจุบันบริษัทจะได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่ามามาชดเชยกับค่าต้นทุนที่ปรับขึ้น ทำให้ยังรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 17-18% และอัตรากำไรสุทธิที่ 4-5%

“เราส่งออกกว่า 70% ทำให้ต้นทุนแม้จะเพิ่มขึ้นจริง แต่เมื่อเราล็อกต้นทุนไว้ได้ส่วนหนึ่ง ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนที่เราได้เปรียบมาชดเชยกัน ทำให้เราไม่ได้ต้องปรับราคากับลูกค้าต่างประเทศเลย”

นอกจากนั้น บริษัทยังมองโอกาสการหาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติมในต่างประเทศ โดยเฉพาะมะม่วง อย่างแถบอเมริกาใต้ เพื่อสร้างความหลากหลายและบริหารความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ

เข้า SET เพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู่ผู้นำ Food Tech

นายศักดา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้ คือนำเงินไปใช้ในการปรับปรุงโรงงานผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต รวมถึงใช้ปรับปรุงคลังสินค้าเพื่อเพิ่มพื้นที่และรูปแบบการจัดเก็บวัตถุดิบ อีกทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม เพราะการทำผลไม้อบแห้งใช้ทุนหมุนเวียนค่อนข้างสูงเพื่อตุนวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้ารองรับการขายต่อเนื่องตลอดทั้งปี

“การเข้าระดมทุนครั้งนี้ นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจอย่างแข็งแกร่ง ผ่านการคิดค้นและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ สอดคล้องไปกับแผนการเติบโตของบริษัทที่ต้องการก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน Innovative Healthy Food”

นายศักดา กล่าวว่า แผนระยะยาวในช่วง 3-5 ปีนี้ คงไม่ได้ทำอะไรที่แตกต่างไปจากที่ทำผ่านมา 96 ปีที่เป็นสูตรสำเร็จ นั่นคือ การพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ออกมาอยู่เสมอ นั่นคือสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่ในอดีตไปจนถึงอนาคต

แต่การเข้าตลาดหลักทรัพย์จะข่วยเปิดโอกาสให้เรามากขึ้นในการที่เราจะไปร่วมลงทุนในบริษัทด้านฟู้ดเทค และนำเทคโนโลยีเหล่านั้นกลับมาพัฒนาสินค้าของเรา รวมถึงจะไปซื้อหรือควบรวมกิจการกับบริษัทที่มีเทคโนโลยี เพราะกลยุทธ์ของเราคือต้องวิ่งเร็วกว่าคนอื่น 1 ก้าวเสมอ

เท่ากับว่าเรายกระดับตัวเราเองให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป มีชื่อเสียงโปร่งใส อันที่สองคือเรามีเงินทุน อันที่สามคือเรามีความพร้อมเรื่องโรงงานผลิต จากนั้นเราเริ่มจะมองหาแล้วว่า มีบริษัทสตาร์ทอัพรายไหนบ้าง ที่มีเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกับเราที่สุด เพื่อนำเทคโนโลยีเหล่านั้น มาพัฒนาและต่อยอดให้กับสินค้าของเรา เมื่อเราเข้าไปแล้วก็จะเริ่มมองหา Food Tech รายไหนที่เข้ากับเราได้มากที่สุด”นายศักดา กล่าว

ผสานความมั่นคงยาวนานบวกจุดแข็ง Innovative

นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน CH กล่าวา การที่ CH สามารถดำเนินธุรกิจมาเกือบ 100 ปีเป็นสิ่งตอกย้ำความมั่นคงของบริษัท ประกอบกับจุดแข็งในการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ทาง CH สามารถคิดค้นสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

“เจริญอุตสาหกรรม ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็น 1 ในปัจจัย 4 ของมนุษย์ และแม้ว่าในปัจจุบันจะอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก รวมถึงมีภาวะสงครามเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่กลับกลายเป็นโอกาสของบริษัท ที่ผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูป ทั้งผลไม้อบแห้งและปลากระป๋อง ทำให้ความต้องการของสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น บวกกับเงินบาทที่อ่อนค่า ก็ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้า ขณะเดียวกัน CH ยังวิจัยและพัฒนาด้าน Innovative Healthy Food มาตลอด นับว่าเป็นการตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคตที่จะให้ความสำคัญกับอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top