คลัง เผยเศรษฐกิจไทย มิ.ย.รับแรงหนุนท่องเที่ยว-รายได้เกษตรโตดันบริโภคเอกชน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิ.ย. 65 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อระดับราคาพลังงาน ค่าครองชีพของประชาชน และทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด

ในเดือน มิ.ย.65 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 8.8% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 1.9% สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 9.6% ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 9.6% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 4.2%

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.6 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น และมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ทำให้ธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้เป็นปกติ ตลอดจนการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลในเรื่องการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ที่ทำให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น จากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 13.9% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 3.1%

สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนมิ.ย. 65 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -4.3% แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 1.2% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 6.1% แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -9.6%

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 6.5% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 0.7% จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวโพด ยางพารา เป็นต้น

สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 767,497 คน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 13,379.0% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 17.3% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยจำนวน 15.7 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 1,115.6% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 14.3%

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 86.3 จากระดับ 84.3 ในเดือนพ.ค. 65 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยมีปัจจัยบวกจากการที่ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยลบจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 7.66% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.51% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพ.ค. 65 อยู่ที่ 60.9% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนมิ.ย. 65 อยู่ที่ 0.69% ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด

สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 65 อยู่ในระดับสูงที่ 222.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top