Decrypto: Market Maker ช่องว่างของนักปั่น

นักลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนรวมถึงตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลล้วนแต่เคยได้ยินคำว่า ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) หรืออาจถูกเรียกแบบติดตลกว่า “เจ้ามือ” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในตลาดรองที่ทำให้ผู้ถือสินทรัพย์สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ได้เมื่อต้องการด้วยการสร้างสภาพคล่อง เพราะหากไม่มีการสร้างสภาพคล่องแล้วก็อาจจะทำให้ผู้ถือสินทรัพย์ไม่สามารถขายทรัพย์สินได้ หรืออาจจะต้องขายแพงหรือถูกกว่าราคาตลาดที่แท้จริง

ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Liquidity) จะตั้งราคารับซื้อ (Bid) และตั้งราคาขาย (Offer) ให้เป็นไปตามกลไกของตลาดเพื่อให้สะท้อนราคาและความต้องการที่แท้จริงของตลาด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวผู้ดูแลสภาพคล่องจะได้รับส่วนลดค่าใช้บริการจากผู้ให้บริการตลาดรอง รวมถึง ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรืออาจจะได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของราคาการซื้อขายก็ได้ เช่น การทำ Arbitrage ที่เป็นการทำกำไรจากความต่างของราคาสินค้าชนิดเดียวกันที่ซื้อขายกันอยู่คนละตลาด จึงเห็นได้ว่า Market Maker มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับราคาของสินทรัพย์โดยตรง และมีความก้ำกึ่งกับการแทรกแซงราคาตลาดที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

การทำหน้าที่ ผู้ดูแลสภาพคล่อง หรือ Market Maker นั้นจะต้องดำเนินการโดยไม่กระทบต่อราคาตลาดโดยรวม หรือจะต้องไม่เป็นการหาประโยชน์จากนักลงทุนหรือผู้ถือสินทรัพย์โดยตรง ซึ่ง Market Maker จะตั้งราคาเพื่อรองรับการซื้อขาย แต่จะไม่เข้าไปซื้อขายจับคู่ (Match) กันเองเพื่อให้ราคาเป็นไปตามที่ตัวเองกำหนด หรือชี้นำราคา หรือให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายสำคัญผิดในราคาหรือปริมาณสินทรัพย์ที่ซื้อขายกันบนตลาด

การกระทำความผิดส่วนใหญ่ของ Market Maker ที่มักเกิดขึ้นคือ การสร้างปริมาณซื้อขายเทียมโดยการจับคู่ (Match) ซื้อขายกันเอง หรือที่เรียกกันว่า “Wash Trade” ที่มองโดยผิวเผินแล้วจะมีลักษณะคล้ายกับการดูแลสภาพคล่องเป็นอย่างมาก แต่ต่างกันที่ธุรกรรมการซื้อและขายเกิดขึ้นจริง แต่จะไม่มีการโอนหรือเปลี่ยนมือความเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น ๆ ทำให้ผู้ที่จะซื้อขายหรือนักลงทุนเห็นว่ามีการซื้อขายสินทรัพย์เป็นจำนวนมาก แต่ที่จริงแล้วเป็นการแทรกแซงปริมาณจาก Market Maker ไม่ใช่ปริมาณการซื้อขายจริง ๆ ที่เกิดจากผู้ที่จะซื้อขายหรือนักลงทุนตามกลไกของตลาดที่แท้จริง ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ถูกทำราคาให้สูงขึ้นจนเกินมูลค่าในตลาด ณ ช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งท้ายที่สุดจะนำมาสู่การขาดทุนซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

แม้ Market Maker จะได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติแล้วนักลงทุน ประชาชน หรือกระทั่งหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล อาจไม่สามารถทราบได้ว่าราคาหรือปริมาณการซื้อขายในช่วงเวลานั้น ๆ เกิดจากการกระทำที่ไม่ตรงไปตรงมาของ Market Maker ซึ่งโดยปกติแล้วจะมาทราบหรือรับรู้กันก็เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว เพราะด้วยลักษณะที่มีความใกล้เคียงกันอย่างมากระหว่างการดูแลสภาพคล่องกับการจับคู่ซื้อขายกันเองหรือ Wash Trade แต่ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันด้วยเจตนา อีกทั้งการพิจารณาว่าผิดหรือถูกในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยาก

นักลงทุน ผู้ซื้อหรือผู้ขายควรศึกษาลักษณะของสินทรัพย์ ทิศทางของตลาด รวมถึงข่าวสารเพื่อให้สามารถซื้อขายได้อย่างปลอดภัย และตัว Market Maker เองควรเป็นส่วนสำคัญในการดูแลตลาดรองให้มีความโปร่งใสน่าเชื่อถือ ไม่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน เพื่อความยั่งยืนของการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ จากทั้งในและต่างประเทศ

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ

ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ส.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top