LiVE The Series: AWS เรือธงลำแรกกระดาน LiVEx ประกาศศักดาเทคฯสัญชาติไทย

นับว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย SME และ Startup ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจ วันนี้ บมจ. แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส (AWS) บริษัทออกแบบพัฒนา Digital Technology ชั้นนำของไทย พร้อมแล้วจะเป็นบริษัทแรกที่ก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) คาดว่าจะเข้าเทรดได้ในราววันที่ 9 ก.ย.นี้

นายวิโรจน์ ศิริรัตนรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AWS เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า AWS เป็นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทย ประกอบธุรกิจออกแบบพัฒนา Digital Technology ทางด้าน IT Solution และยังมีบริการ On Cloud Service Platform เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและแก้ปัญหาให้กับลูกค้าผู้ประกอบการ หน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ ยกตัวอย่าง เช่น ระบบ E-Commerce, ระบบ Payment Solution, ระบบบริหารจัดการองค์กร (ERP), ระบบบริหารจัดการตั๋วแบบครบวงจร หรือ ระบบบริหารจัดการตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เป็นต้น

และบริษัทยังเป็นพันธมิตรกับ LINE Corporation โดยได้รับการแต่งตั้งเป็น LINE Developer Partner เพื่อพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ ผ่าน Line OA ให้กับองค์กรธุรกิจต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและตรงตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละธุรกิจ

“เนื่องจากว่าในประเทศไทย จะมีผู้ใช้บริการ Line จำนวนมาก มีตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นสมัยนี้ การพัฒนาแอปพลิเคชั่นบน Android หรือ IOS ก็อาจจะมีข้อจำกัดหลายเรื่อง การที่เราพัฒนาบน Line OA ก็จะทำให้เกิดการใช้งานที่คุ้นเคย และต่อยอดได้ง่ายกว่า”

นายวิโรจน์กล่าว

ล่าสุด เมื่อปีที่แล้ว AWS ยังเริ่มให้บริการธุรกิจใหม่อย่าง Balance Blockchain ซึ่งเป็น Platform Blockchain ที่ออกแบบและพัฒนามาตั้งแต่ในปี 61 เพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้งานระบบ Blockchain ของต่างประเทศ ให้บริการสำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กรที่สนใจนำ Blockchain ไปประยุกต์ใช้งานหลากหลายรูปแบบ

นายวิโรจน์ กล่าวว่า AWS มีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนา Digital Technology ทำให้มีศักยภาพที่จะแข่งขันกับต่างชาติได้ และเนื่องจากบริษัทพัฒนาระบบต่าง ๆ ขึ้นมาเอง ทำให้สามารถพัฒนาและปรับปรุงระบบตามความต้องการของลูกค้าได้ ประกอบกับการมี Local Services ให้บริการกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดก็เป็นจุดที่ทำให้ AWS แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น

“ส่วนมากลูกค้าของเราจะเป็นลูกค้าองค์กรธุรกิจ หรือผู้ประกอบการ SME ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีก หรือธุรกิจงานบริการ อย่างลูกค้ารายใหญ่ของเราก็มี King Power, PTG หรือ MP Group ในส่วนของลูกค้าภาครัฐเราก็มี เช่น องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และในปีหน้าเราก็วางแผนว่าเราจะขยายไปสู่งานภาครัฐมากขึ้น เพราะว่าเทคโนโลยีของเราสามารถเข้าไปให้บริการงานภาครัฐได้หลายส่วน”

นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์กล่าวว่า หากประเมินอุตสาหกรรมดิจิทัล ยังคงเห็นทิศทางการเติบโตได้อีกมาก และค่อนข้างที่จะเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด เ นื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมานั้น ยิ่งเป็นปัจจัยที่เร่งให้หลาย ๆ องค์กรทำ Digital Transformation มากขึ้น เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

“ถ้าเราไปดูข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) จะพบว่าตั้งแต่ปี 60-64 ตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลซอฟต์แวร์ในไทยมีสถิติเติบโตเท่าตัว จากแสนล้านเป็นสองแสนล้าน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ตรงไหนของตลาด ซึ่งบริษัทเราก็มีทีมที่มีความเชี่ยวชาญหลายด้านและเฉพาะทาง มี Solution ต่าง ๆ พร้อมให้บริการทำให้เราสามารถจับกลุ่มลูกค้าได้หลายเซกเมนต์”

นายวิโรจน์กล่าว

แม้ว่าโควิด-19 จะเป็นสิ่งที่เร่งให้เกิดการ Digital Transformation แต่ก็เป็นช่วงที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถบริหารจัดการให้ผลกำไรสุทธิเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ โดยในปี 63 บริษัทมีรายได้ราว 90.15 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3.9 ล้านบาท ส่วนในปี 64 มีรายได้อยู่ที่ 67.01 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 9.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสินค้าและบริการตัวใหม่ ๆ ที่บริษัทพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการบริหารจัดโครงสร้างองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ช่วยหนุนให้กำไรสุทธิของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) บริษัทได้เตรียมความพร้อมหลายด้าน ทั้งการปรับระบบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและการทำ Internal Audit รวมถึงการปรับโครงสร้างภายในองค์กรด้านอื่น ๆ เพื่อให้ AWS มีความพร้อมอย่างเต็มรูปแบบในการเข้าระดมทุนครั้งนี้

“จริง ๆ เราวางแผนที่จะเข้าตลาด mai อยู่แล้วตั้งแต่แรก ทีนี้เป็นจังหวะที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ออกแบบกระดาน LiVEx และสามารถเปิดให้บริการได้ในปีนี้ เรามองว่ามันเป็นตัว Spring Board ให้เรามีความรู้ความสามารถที่จะเตรียมตัวได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากเข้า LiVEx แล้ว เราก็วางแผนที่จะก้าวไปสู่ตลาด mai ในอนาคต”

นายวิโรจน์กล่าว

วัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุน ราว 100 ล้านบาทครั้งนี้ คือนำไปใช้ในโครงการพัฒนาระบบบริการ web 3.0 (Blockchain as a service) 15 ล้านบาท, โครงการขยายการจำหน่ายตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ Advance Vending รวมถึงการขายสินค้าในความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ 15 ล้านบาท, ลงทุนด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ ทั้ง Online และ Offline 12 ล้านบาท, โครงการพัฒนาระบบตั๋วบล็อคเชน (Ticketing on Blockchain) 10 ล้านบาท, โครงการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 8.5 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงเพิ่มเติมระบบรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและพัฒนาศักยภาพบุคคลากร 6 ล้านบาท, ลงทุนด้านการขยายพื้นที่ปฏิบัติงาน 3.5 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการอีก 30 ล้านบาท

นายวิโรจน์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าจะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี On Cloud Service Platform ให้ได้ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อให้บริการผู้ประกอบการในประเทศไทยทั้งรายใหญ่และรายย่อยได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่ดี ในราคาที่จับต้องได้ เนื่องจากว่าปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้มีราคาค่อนข้างสูง แต่ถ้าหากใช้เทคโนโลยีจากในไทยก็จะช่วยลดต้นทุนดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการรายต่าง ๆ ได้

นอกจากการให้บริการลูกค้าภายในประเทศแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ AWS ต้องการขยายการให้บริการไปสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งยังมีอีกหลายประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ตามหลังประเทศไทยอยู่ และด้วยบริษัทมีบริการที่หลากหลาย จะทำให้สามารถจับกลุ่มลูกค้าในภูมิภาคอาเซียนได้อีกมาก

“ที่ผ่านมาเรามุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อคนไทย ให้คนไทยได้มีเทคโนโลยีดี ๆ ใช้ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่แผนในอนาคตเราจะขยายการบริการไปยังต่างประเทศ อย่างในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจากการเข้าระดมทุนครั้งนี้ เราเชื่อว่าจะมี Strategic partner ที่มาทำงานร่วมกัน ช่วยสร้างสรรค์เทคโนโลยีไปด้วยกัน ทำให้เราเติบโตไปอย่างก้าวกระโดดได้”

นายวิโรจน์กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ส.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top