In Focus: เกาะติดการประชุมแจ็กสันโฮล จับตา “พาวเวล” ส่งสัญญาณดอกเบี้ย-เศรษฐกิจสหรัฐ

เหลือเวลาอีกเพียง 1 สัปดาห์ก็จะถึงการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิงในระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม ซึ่งการประชุมในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Reassessing Constraints on the Economy and Policy” โดยจะมีผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีคลัง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากประเทศทั่วโลกเดินทางเข้าร่วมการประชุม แต่ไฮไลต์ของการประชุมอยู่ที่การกล่าวสุนทรพจน์ของประธานเฟดซึ่งจะแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินของเฟด และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ

บรรดานักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกจับตาท่าทีของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่านายพาวเวลจะใช้เวทีการประชุมแจ็กสัน โฮลปีนี้เพื่อส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT)

นักวิเคราะห์คาด “พาวเวล” ส่งสัญญาณไม่วางมือจากภารกิจคุมเงินเฟ้อ

เบน เอมอนส์ กรรมการผู้จัดการจากบริษัทเมดลีย์ โกลบอล แอดไวเซอร์กล่าวว่า นายพาวเวลจะใช้การกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีประชุมแจ็กสัน โฮลปีนี้ เพื่ออัปเดตให้ตลาดรับรู้แนวทางการดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินในวันข้างหน้า และเฟดตระหนักว่าแรงกดดันด้านราคาถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เฟดไม่อาจละสายตาได้

“คุณไม่ควรมองข้ามการประชุมแจ็กสัน โฮล ผมเชื่อว่านายพาวเวลจะใช้เวทีนี้เป็นโอกาสในการส่งสัญญาณถึงตลาด อย่างน้อยก็เพื่อเน้นย้ำว่า เฟดยังคงอยู่ในภารกิจการฉุดเงินเฟ้อให้ลดต่ำลงอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือเป้าหมายหลักของนายพาวเวล”

เอมอนส์ยังกล่าวด้วยว่า เขาไม่คาดว่าเฟดจะล้มเลิกความตั้งใจในการปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบเชิงรุก แม้มีสัญญาณบ่งชี้ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐเริ่มชะลอตัวลงแล้วก็ตาม โดยแม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่อ่อนแรงลงจะทำให้ตลาดลดการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด แต่เอมอนส์เชื่อว่า ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าภารกิจการปราบเงินเฟ้อให้อยู่หมัดของเฟดได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และเขาเชื่อว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ยังคงอยู่บนโต๊ะการอภิปรายของกรรมการเฟด

โยเซฟ หวัง อดีตเทรดเดอร์อาวุโสของเฟดกล่าวว่า ไม่ว่านายพาวเวลจะพูดอะไรเกี่ยวกับการปรับลดงบดุลบัญชีของเฟดซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านล้านดอลลาร์ คำพูดนั้นจะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทันที นั่นเป็นเพราะว่า นักลงทุนเล็งเห็นผลกระทบที่จะตามมา เช่น การไหลออกของสภาพคล่อง และปฏิบัติการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบเชิงรุก

เฟดได้ปรับลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือนนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ปีนี้ โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) วงเงิน 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม

เอมอนน์ เชอริแดน นักวิเคราะห์จากแบงเกอร์ ทรัสต์ ออสเตรเลียกล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา กรรมการเฟดมักจะใช้การประชุมแจ็กสัน โฮล เป็นเวทีที่จะอธิบายให้นักลงทุนรับรู้ถึงความพยายามในการปรับนโยบายการเงิน และหลายครั้งนายพาวเวลก็ใช้การประชุมดังกล่าวเพื่อประกาศความสำเร็จในการควบคุมเงินเฟ้อ และส่งสัญญาณถึงแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี เชอริแดนมองว่า เมื่อพิจารณาจากดัชนี CPI ของสหรัฐที่ชะลอตัวลงในเดือนก.ค.แล้ว คาดว่านายพาวเวลไม่น่าจะออกตัวแรงมากนักเกี่ยวกับการส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินเชิงรุกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และอาจจะแค่พูดถึงแนวทางของคณะกรรมการเฟดในเรื่องการลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

ถอดรหัสคำพูด “พาวเวล” ก่อนการประชุมแจ็กสัน โฮลเปิดฉาก

ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายพาวเวลแถลงต่อสภาคองเกรสสหรัฐว่า ความมุ่งมั่นของเฟดในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีนั้น “ไม่มีเงื่อนไข” แต่ก็จะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่การว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งคำแถลงดังกล่าวบ่งชี้ว่า เฟดพร้อมรับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เลวร้ายจากการที่เงินเฟ้อไม่สามารถควบคุมได้จนทำให้เกิดความเสียหายในระยะยาว

นายพาวเวลยังกล่าวกับสภาคองเกรสด้วยว่า แม้เฟดพยายามจะไม่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์โลกที่อยู่เหนือการควบคุมในช่วงที่ผ่านมาทำให้เป็นเรื่องยากมากขึ้นที่จะลดแรงกดดันด้านราคาโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว

กระทั่งในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 27 ก.ค. มุมมองของนายพาวเวลเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเขาแสดงความมั่นอกมั่นใจในระหว่างการแถลงข่าวว่า เขาไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงเวลาที่เฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เหตุผลก็คือว่า มีหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งมากเกินไป ซึ่งรวมถึงตลาดแรงงาน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องสมเหตุสมผลที่จะประเมินว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในเมื่อตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งอย่างมาก

ในการแถลงข่าววันดังกล่าว นายพาวเวลส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในเดือนก.ย. หลังจากที่เฟดได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 27 ก.ค. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ครั้งที่ 2 ติดต่อกัน และถือเป็นการดำเนินการที่เข้มงวดที่สุดนับตั้งแต่ที่เฟดกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเครื่องมือสำคัญด้านนโยบายการเงินในช่วงทศวรรษ 1990 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้อยู่ที่ระดับ 2.25-2.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2561

เปิดประวัติการประชุมแจ็กสัน โฮล

การประชุมเศรษฐกิจประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล หรือ “The Jackson Hole Economic Symposium” เป็นหนึ่งในการประชุมที่มีประวัติอันยาวนานที่สุดในโลก โดยเฟดสาขาแคนซัสซิตีเป็นแม่งานจัดการประชุมดังกล่าวในทุก ๆ ปี นับตั้งแต่ปี 2521 โดยการประชุมจะมุ่งอภิปรายในประเด็นเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และผู้ที่ได้เข้าร่วมประชุมจะประกอบไปด้วยผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีคลัง รวมทั้งบรรดานักวิชาการ และนักลงทุนชั้นนำในตลาดการเงินทั่วโลก

การประชุมแจ็กสัน โฮล ถือเป็น “บิ๊กอีเวนต์” ที่นักลงทุนจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะมักจะมีถ้อยคำที่เหนือความคาดหมายหลุดออกจากปากของบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งคำพูดเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นและตลาดการเงินทั่วโลก

เฟดสาขาแคนซัสซิตีจะทำหน้าที่เลือกหัวข้อการประชุม และคัดเลือกผู้เข้าร่วมประชุมตามหัวข้อในแต่ละปี และจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมประชุมจากผู้ร่วมงาน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม โดยในแต่ละปี จะมีผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมประมาณ 120 คน โดยพิจารณาจากความหลากหลายของคุณวุฒิและวิชาชีพของผู้เข้าร่วม อย่างไรก็ดี เฟดสาขาแคนซัสซิตีจะจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม และจะอนุญาตเฉพาะสื่อมวลชนที่ได้รับคำเชิญเท่านั้น โดยมีเป้าหมายที่จะให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถจดจ่อกับหัวข้อการประชุม และเพื่อให้การดำเนินรายการประชุมเป็นไปอย่างโปร่งใส

ส่องหัวข้อการประชุมแจ็กสัน โฮล ตั้งแต่ปีเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน

การประชุมแจ็กสัน โฮล มีประวัติอันยาวนานมาตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปัจจุบัน โดยหัวข้อการประชุมในแต่ละปีมีดังนี้:

2565 “Reassessing Constraints on the Economy and Policy”

2564 “Macroeconomic Policy in an Uneven Economy”

2563 “Navigating the Decade Ahead: Implications for Monetary Policy”

2562 “Challenges for Monetary Policy”

2561 “Changing Market Structures and Implications for Monetary Policy”

2560 “Fostering a Dynamic Global Economy”

2559 “Designing Resilient Monetary Policy Frameworks for the Future”

2558 “Inflation Dynamics and Monetary Policy”

2557 “Re-Evaluating Labor Market Dynamics”

2556 “Global Dimensions of Unconventional Monetary Policy”

2555 “The Changing Policy Landscape”

2554 “Achieving Maximum Long-Run Growth”

2553 “Macroeconomic Challenges: The Decade Ahead”

2552 “Financial Stability and Macroeconomic Policy”

2551 “Maintaining Stability in a Changing Financial System”

2550 “Housing, Housing Finance, and Monetary Policy”

2549 “The New Economic Geography: Effects and Policy Implications”

2548 “The Greenspan Era: Lessons for the Future”

2547 “Global Demographic Change: Economic Impacts and Policy Challenges”

2546 “Monetary Policy and Uncertainty: Adapting to a Changing Economy”

2545 “Rethinking Stabilization Policy”

2544 “Economic Policy for the Information Economy”

2543 “Global Economic Integration: Opportunities and Challenges”

2542 “New Challenges for Monetary Policy”

2541 “Income Inequality Issues and Policy Options”

2540 “Maintaining Financial Stability in a Global Economy”

2539 “Achieving Price Stability”

2538 “Budget Deficits and Debt: Issues and Options”

2537 “Reducing Unemployment: Current Issues and Policy Options”

2536 “Changing Capital Markets: Implications for Monetary Policy”

2535 “Policies for Long-Run Economic Growth”

2534 “Policy Implications of Trade and Currency Zones”

2533 “Central Banking Issues in Emerging Market-Oriented Economies”

2532 “Monetary Policy Issues in the 1990’s”

2531 “Financial Market Volatility”

2530 “Restructuring The Financial System”

2529 “Debt, Financial Stability, and Public Policy”

2528 “The U.S. Dollar – Recent Developments, Outlook, and Policy Options”

2527 “Price Stability and Public Policy”

2526 “Industrial Change and Public Policy”

2525 “Monetary Policy Issues in the 1980’s”

2524 “Modeling Agriculture for Policy Analysis in the 1980’s”

2523 “Future Sources of Loanable Funds for Agricultural Banks”

2522 “Western Water Resources: Coming Problems and the Policy Alternatives”

2521 “World Agricultural Trade: The Potential for Growth”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top