พาณิชย์ เผย 7 เดือนแรกต่างชาติลงทุนในไทย 323 ราย เงินลงทุนกว่า 7.3 หมื่นลบ.

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้รายงานว่า ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 323 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 122 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 201 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 73,635 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 3,308 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 82 ราย (25%) เงินลงทุน 28,970 ล้านบาท สิงคโปร์ 58 ราย (18%) เงินลงทุน 10,568 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 40 ราย (12%) เงินลงทุน 3,229 ล้านบาท ฮ่องกง 26 ราย (8%) เงินลงทุน 7,263 ล้านบาท และจีน 14 ราย (4%) เงินลงทุน 14,662 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-ก.ค.64) พบว่า อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 45 ราย คิดเป็น 16% (ปี 2565 อนุญาตฯ 323 ราย ปี 2564 อนุญาต 278 ราย) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 28,925 ล้านบาท คิดเป็น 65% (ปี 2565 ทุน 73,635 ล้านบาท ปี 2564 ทุน 44,710 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 1,135 ราย คิดเป็น 52% (ปี 2565 จ้างงาน 3,308 คน ปี 2564 จ้างงาน 2,173 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565

โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น

– บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา

– บริการขุดเจาะปิโตรเลียม

– บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

– บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษา เชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น

– บริการออกแบบด้านวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำยาอะคริลิก

– บริการให้ใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ สำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า และสั่งซื้อสินค้าและบริการ

– บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค.65) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 59 ราย คิดเป็น 18% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดใน 7 เดือนนี้ โดยมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 31,562 ล้านบาท คิดเป็น 43% ของเงินลงทุนทั้งหมด

ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 26 ราย ลงทุน 20,500 ล้านบาท สิงคโปร์ 6 ราย ลงทุน 1,792 ล้านบาท และ สหรัฐอเมริกา 5 ราย ลงทุน 1,074 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1. บริการตรวจสอบและวิเคราะห์สภาพการทำงานของเครื่องจักรชนิดหมุนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Services) ด้วยระบบคลาวด์ (Cloud) และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ (Sensor Technology) 2. บริการประกอบและติดตั้งชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ 3. บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นต้น

รมช.พาณิชย์ คาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 5 เดือน (ส.ค.-ธ.ค.65) จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านต่างๆ รวมถึงเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ดี เฉพาะเดือนก.ค. 65 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติ 39 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 16 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 23 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 3,675 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 135 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา

รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับระบบการชำระเงิน และการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบแบตเตอรี่ที่ใช้ในกระบวนการผลิตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริด และองค์ความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานการทำงานของแอปพลิเคชันสำหรับให้คำปรึกษาทางการแพทย์ เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่

– บริการให้ใช้แพลตฟอร์มสำหรับให้คำปรึกษาทางการแพทย์ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน

– บริการตรวจสอบแบตเตอรี่ที่ในกระบวนการผลิตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) และรถยนต์ไฮบริด (Hybrid Vehicle)

– บริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล สำหรับการให้บริการแพลตฟอร์มจัดสรรเงินลงทุนในกองทุนรวม

– บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ และตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top