ทริสฯปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร SSP เป็น BBB+ จาก BBB แนวโน้ม Stable

ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) เป็นระดับ “BBB+” จากระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความแน่นอนของกระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าของบริษัทที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ต่ำของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของโรงไฟฟ้าของบริษัท ในทางกลับกัน อันดับเครดิตถูกจำกัดจากความท้าทายที่สูงขึ้นของอุตสาหกรรมไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและระดับหนี้สินที่มีความเป็นไปได้ที่จะสูงขึ้นเพื่อสนับสนุนแผนการเติบโตของบริษัท

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

– พลังงานแสงอาทิตย์ยังคงเป็นธุรกิจหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดในการลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท แม้ว่าบริษัทจะขยายธุรกิจไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานลมและชีวมวล ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีโรงไฟฟ้ารวม 19 โครงการทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย คิดเป็นกำลังการผลิตสุทธิตามสัดส่วนที่บริษัทเป็นเจ้าของเท่ากับ 270 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 16 โครงการคิดเป็น 78% ของกำลังการผลิตรวมในขณะที่เหลือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลม 2 แห่งและโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 แห่ง

โรงไฟฟ้าของบริษัทดำเนินการภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญญาที่ทำไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งผู้รับซื้อไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือหลายรายในประเทศญี่ปุ่น และการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity — EVN) โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวเป็นแบบ Non-firm (สัญญาที่ผู้ผลิตไม่มีข้อผูกมัดเกี่ยวกับการสั่งเดินเครื่อง และจะได้รับเฉพาะค่าพลังงานไฟฟ้า) กระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่มักจะคาดการณ์ได้จากการมีอัตราค่าไฟฟ้าที่แน่นอนและมีความเสี่ยงในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่ต่ำ

– โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทมีผลการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่ของบริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าต่อปีได้เกินระดับ P50 (ความน่าจะเป็น 50% ของการผลิตพลังงาน) ซึ่งเป็นเกณฑ์ของการดำเนินงานที่คาดไว้

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าของบริษัทมีอัตราส่วนปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงต่อขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง (Capacity factor) เฉลี่ยสูงกว่า 15% โดยจำหน่ายไฟฟ้าได้ราว 283 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งสูงกว่าระดับ P50 ประมาณ 5.8% ทั้งนี้ บริษัท เสริมสร้างพลังงงาน จำกัด (SPN) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 52 เมกะวัตต์ในประเทศไทยนั้นเป็นโครงการที่มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาโรงไฟฟ้าของบริษัท โดย SPN จำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 85-91 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีซึ่งสูงกว่าระดับ P50 ประมาณ 14% ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินงานในปี 2558

– การจำหน่ายเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฮิดากะ ในเดือนมิถุนายน 2565 บริษัทได้จำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดในโครงการฮิดากะ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 21 เมกะวัตต์ในจังหวัดฮอกไกโด โดยบริษัทได้จำหน่ายหุ้น 87% ของโครงการออกไปและได้รับเงินจำนวน 2.8 พันล้านเยนและรับรู้กำไรจำนวน 348 ล้านบาท ซึ่งการขายบริษัทย่อยในครั้งนี้ทำให้บริษัทสามารถลดภาระหนี้เงินกู้โครงการประมาณ 4.6 พันล้านเยนออกจากงบดุลของบริษัทได้ด้วย ดังนั้น ภาระหนี้ของบริษัทจึงลดลงอย่างมากเหลือ 6.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จาก 9.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564

– โครงสร้างทางการเงินแข็งแกร่งขึ้น โดยปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปีที่แล้ว จากการที่ฐานทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มทุนในช่วงปลายปีที่แล้วและต้นปีนี้ โดยบริษัทได้รับเงินรวม 1.58 พันล้านบาทจากการเพิ่มทุนโดยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อผู้ลงทุนเป็นการเฉพาะเจาะจง (Private Placement) และการใช้สิทธิ์ผ่านใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) นอกจากนี้ การรับรู้กำไรจากการขายโครงการฮิดากะยังช่วยทำให้บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นอีกด้วย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงอย่างชัดเจนเป็น 2.7 เท่าจาก 4.5 เท่าในปี 2564 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนเท่ากับ 44.7% ในเดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจาก 59.7% ในปี 2564

– เปิดดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานลมใกล้ชายฝั่งได้สำเร็จ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้สร้างผลงานที่แข็งแกร่งในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ในเดือนตุลาคม 2564 บริษัทสามารถพัฒนาและเปิดดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานลมใกล้ชายฝั่งขนาด 48 เมกะวัตต์ในประเทศเวียดนามได้สำเร็จ การพัฒนาโครงการดังกล่าวนั้นมีความท้าทายอย่างมากเนื่องจากมีความซับซ้อนในการก่อสร้างและมีระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด บริษัทสามารถบริหารจัดการให้โครงการนี้สามารถเปิดดำเนินงานได้ตามกำหนดเวลาตามที่ทางรัฐบาลประเทศเวียดนามกำหนด ในขณะที่ผู้พัฒนาโครงการรายอื่น ๆ เจอปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้าง

นอกเหนือจากการพัฒนาโครงการตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว บริษัทยังเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการซื้อหุ้น 25% ใน บริษัท วินชัย จำกัด คิดเป็นจำนวนเงิน752 ล้านบาท ในเดือนมีนาคม 2565 ด้วย โดยบริษัทวินชัยเป็นเจ้าของและบริหารงานโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 45 เมกะวัตต์ในจังหวัดมุกดาหาร ทำให้บริษัทมีโรงไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวมากขึ้นและสร้างกระแสเงินสดได้มากขึ้นเช่นกัน

– มีรายได้มากขึ้นจากโครงการใหม่ บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลมาจากการขยายกำลังผลิต บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 400 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2564 เพิ่มขึ้นจาก 254 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2563 โดยมีสาเหตุมาจากการเปิดดำเนินงานของโครงการใหม่และการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปีของโครงการที่เปิดดำเนินงานก่อนหน้านั้น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 บริษัทจำหน่ายไฟฟ้ารวม 289 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 63% จาก 178 กิกะวัตต์ชั่วโมงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยบริษัทมี EBITDA เท่ากับ 1.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% จากปีก่อนหน้า ทริสเรทติ้งประมาณการว่า EBITDA จะเพิ่มขึ้นเป็นสถิติใหม่ของบริษัทที่ 2.8 พันล้านบาทในปี 2565

– ความท้าทายที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมไฟฟ้า ทริสเรทติ้งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยจากการที่รัฐบาลมีแนวโน้มจะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวเพื่อให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าจะมีการเปิดโควต้ารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งมองว่าตลาดพลังงานในประเทศจะมีความท้าทายมากขึ้นจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทเอกชนต่าง ๆ ตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กมากไปจนถึงกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ต่างก็ได้ทำการขยายกิจการสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ในขณะเดียวกันความต้องการใช้ไฟฟ้าก็เติบโตขึ้นเล็กน้อยหลังจากหดตัวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด

นอกจากนี้ กำลังการผลิตสำรองที่เหลืออยู่ในระดับสูงอาจฉุดรั้งการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ได้ หลายบริษัทที่ประกอบธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทยจึงหันไปลงทุนนอกประเทศเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าและตลาดที่มีความต้องการไฟฟ้าที่สูงกว่า การขยายธุรกิจในต่างประเทศบางแห่งมีความเสี่ยงในประเทศที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากความโปร่งใสและความคงเส้นคงวาของกฎระเบียบ เครดิตของผู้ซื้อไฟฟ้า และความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม

– ภาระหนี้อาจเพิ่มขึ้นจากแผนเติบโต ณ ปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 22 เมกะวัตต์ในประเทศญี่ปุ่นและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาในประเทศอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ในประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง เราตั้งสมมติฐานว่าบริษัทจะมีโครงการใหม่อีก 103 เมกะวัตต์เพิ่มเติมจากโครงการที่กล่าวมาแล้ว และคาดว่าบริษัทจะลงทุนเพิ่มเติมในประเทศเวียดนามจากโอกาสในพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มขึ้นจากแผนพัฒนาพลังงานฉบับที่ 8 ของประเทศเวียดนาม (Power Development Plan 8 — PDP8) ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงการใหม่จะเริ่มเปิดดำเนินงานในปี 2567 เป็นต้นไป

จากประมาณการกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง บริษัทจะใช้จ่ายเพื่อลงทุนในโครงการใหม่รวม 1 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2565-2568 จากสมมติฐานว่าโครงการใหม่ ๆ ที่อยู่ในมือจะใช้เงินทุนจากเงินกู้โครงการเป็นหลัก ในขณะที่โครงการที่เพิ่มเติมขึ้นมาจะได้รับเงื่อนไขการชำระค่าก่อสร้างจากผู้รับเหมาโดยบริษัทจะชำระค่าก่อสร้างเมื่อโครงการเปิดดำเนินงานไปแล้ว 1 ปี ดังนั้น ภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.04 หมื่นล้านบาทในปี 2568 เมื่อบริษัทเริ่มเบิกเงินกู้มาเพื่อชำระค่าก่อสร้างให้แก่ผู้รับเหมา

ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 3-3.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2568 และ EBITDA จะอยู่ที่ราว 2.4-2.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงเดียวกัน อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันเป็น 3.1-4.4 เท่า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ที่ราว 45%-52%

– มีสภาพคล่องเพียงพอ โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ภายใต้สัญญาเงินกู้โครงการระยะยาว นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ยืมทั้งระยะสั้นและระยะยาวกับธนาคารเพื่อใช้ในการสนับสนุนบริษัทย่อยในกลุ่มอีกด้วย โดยบริษัทและบริษัทย่อยสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขเงินกู้ยืมที่กำหนดอัตราส่วนทางการเงินได้

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีหนี้สินทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือนข้างหน้าจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.2 พันล้านบาท ในขณะเดียวกันบริษัทก็มีเงินสดในมือจำนวน 5.1 พันล้านบาท และทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท

– โครงสร้างภาระหนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2565 บริษัทมีหนี้เงินกู้ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าในงบการเงินรวมจำนวน 1.12 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยภาระหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทและภาระหนี้ที่ระดับบริษัทย่อยรวมเท่ากับ 9.2 พันล้านบาท ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้รวมของบริษัทจึงอยู่ที่ระดับ 81% ซึ่งสูงกว่าระดับ 50% ตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้” ของทริสเรทติ้ง ส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความด้อยสิทธิกว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากสิทธิเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

-โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 22 เมกะวัตต์ในจังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น จะเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

-โครงการที่เพิ่มเติมขึ้นมาจะเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์จำนวน 48 เมกะวัตต์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 และอีก 55 เมกะวัตต์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2568

-โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคารวม 26 เมกะวัตต์ในประเทศอินโดนีเซียจะทยอยเปิดดำเนินงานในปี2565-2566

– กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 480 เมกะวัตต์ในปี 2568

– ในช่วงปี 2565-2568 โรงไฟฟ้าจะผลิตไฟฟ้ารวม 515-718 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

– ค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2565-2568

-บริษัทจะได้รับเงื่อนไขการชำระค่าก่อสร้างจากผู้รับเหมาในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เพิ่มเติมขึ้นมา

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจและสร้างกระแสเงินสดได้ตามที่ประมาณการ และยังคาดหวังว่าบริษัทจะพัฒนาโครงการใหม่ได้ตามแผนโดยไม่มีความล่าช้าในการก่อสร้างหรือไม่มีต้นทุนในการก่อสร้างที่สูงเกินกว่าคาด นอกจากนี้ระดับภาระหนี้ต่อกระแสเงินสดของบริษัทจะอยู่ในระดับที่ทริสเรทติ้งประมาณการแม้ว่าบริษัทยังคงขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ ในทางกลับกัน แรงกดดันต่ออันดับเครดิตอาจมากขึ้นหากสถานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจเกิดจากการก่อหนี้จำนวนมากเพื่อการลงทุน หรือผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าต่ำจากที่ประมาณการไว้อย่างมากจนส่งผลทำให้กระแสเงินสดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 65)

Tags: , , ,