กรมชลฯ ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา หลังน้ำเหนือเพิ่มต่อเนื่อง

น้ำท่วม

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 21 – 26 กันยายน 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั้น

สถานการณ์น้ำปัจจุบัน (22 ก.ย. 65) เวลา 18.00 น. ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 2,058 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 2.63 เมตร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท 1,989 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน มีความจำเป็นปรับเพิ่มการระบายน้ำ จากเดิม 2,000 ลบ.ม./วินาที เป็นไม่เกิน 2,200 ลบ.ม./วินาที ในลักษณะทยอยปรับการระบายแบบขั้นบันได เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2565 อาจจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ดังนี้

คลองโผงเผง จ.อ่างทอง

คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)

วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี และ อ.เมือง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง

โดยอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน โดยระดับน้ำบริเวณดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร ในช่วงวันที่ 25 – 27 กันยายน 65

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา และควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร พร้อมทั้งได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด และร่วมกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ นำการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา มาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พิจารณาปรับการระบายเพื่อรองรับปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดัน ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง ให้สามารถพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มกำลัง

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานและพนังกันน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอความร่วมมือหน่วยงานท้องถิ่นในการช่วยกันจำกัดผักตบชวา สิ่งกีดขวางทางน้ำ ในลำคลองสาขาต่างๆ ไม่ให้ไหลลงมาทางน้ำสายหลัก ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 65)

Tags: ,
Back to Top