กอบศักดิ์ เตือนคนไทยตั้งรับหลังหมดยุคดอกเบี้ยต่ำ คาดแบงก์ทยอยขึ้น แนะระวังการสร้างหนี้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมากำลังทำให้ “ยุคดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดิน” จบลง และเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ยุคที่ต้องระวังเรื่องการใช้จ่ายกำลังเริ่มแล้ว

ที่เป็นเช่นนี้เพราะการสู้สงครามกับเงินเฟ้อของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายแต่ละประเทศ ต้องปรับขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง โดยในเวลาไม่ถึงปี สหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ย 5 ครั้ง รวม +3.0%, สหภาพยุโรป ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง รวม +1.25%, อังกฤษ ขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้ง รวม +2.15%, ออสเตรเลีย 5 ครั้ง รวม +2.25%, ฟิลิปปินส์ 5 ครั้ง รวม +2.25%, มาเลเซีย 3 ครั้ง รวม +0.75%,อินโดนีเซีย 2 ครั้ง รวม +0.75% และไทย 2 ครั้ง รวม +0.5%

เมื่อธนาคารกลางขยับดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรต่างๆ ก็จะขยับตามเป็นขบวนแรกทั้งดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล และดอกเบี้ยหุ้นกู้ของเอกชน บางครั้ง ขึ้นก่อนธนาคารกลางปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วยซ้ำไป

ส่วนดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ก็เช่นกัน ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสัญญาณจากธนาคารกลางเป็นขบวนถัดมา ปกติแล้วธนาคารพาณิชย์จะคอยดูสัญญาณจากธนาคารกลางว่า ต้องการให้ดอกเบี้ยในประเทศปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหน และจะดำเนินการตามที่ธนาคารกลางส่งทิศทางมา

ทั้งนี้ เนื่องจากแบงก์พาณิชย์แต่ละแบงก์ เป็นแค่ส่วนเดียวของเศรษฐกิจ คงยากที่จะฝืนทิศทางของธนาคารกลางได้ เพราะสัญญาณและนโยบายจากธนาคารกลาง จะกระทบไปทุกส่วนของตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรที่จะเป็นตลาดแรกที่ปรับทันที ส่วนธนาคารพาณิชย์ อาจจะใช้เวลา อาจจะรอได้บ้าง ในช่วงสั้นๆ แต่เมื่อธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยไปต่อเนื่องในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดอกเบี้ยในระบบ เริ่มเคลื่อนไหวไปในทิศทางนั้นธนาคารพาณิชย์ก็จะต้องปรับตามในท้ายที่สุด

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การปรับดอกเบี้ยตามดังกล่าว จะช่วยให้นโยบายของธนาคารกลางสามารถส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ ในทิศทางที่ธนาคารกลางต้องการ

สำหรับประเทศไทย หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมา 2 ครั้ง +0.5% และคงปรับขึ้นไปต่ออีกระยะ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์กำลังเริ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลต่อดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในประเภทต่างๆ ซึ่งจะช่วยในกระบวนการดูแลเงินเฟ้อของธปท. ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นจะจูงใจให้คนลงทุน และกู้ยืมน้อยลง ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากที่เพิ่มขึ้นจะจูงใจให้คนฝากเงิน ใช้จ่ายน้อยลงเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมใช้จ่ายลดลง ลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อโดยกระบวนการนี้ จะเริ่มชะลอและหยุดลง ก็ต่อเมื่อธปท.ซึ่งเป็นผู้กำหนดทิศทางดอกเบี้ย จบรอบของการขึ้นดอกเบี้ย หมายความว่า “ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” ในไทย ยังจะเดินหน้าไปอีกระยะส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ยเงินกู้แบบต่างๆ ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเราทุกคนคงต้องระวังเรื่องการสร้างหนี้ ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ ยิ่งเศรษฐกิจโลกกำลังอ่อนลง บริษัทต่างๆ คงต้องคิดเรื่อง สภาพคล่อง ดูแลกระแสเงินสด ฐานะการเงินให้ดี

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธปท.คงปรับขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ และปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป จากเงินเฟ้อพื้นฐานของเรายังไม่สูงมากนัก จากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและจากครัวเรือนส่วนหนึ่งเปราะบาง มีหนี้มาก ทั้งนี้ การที่ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ขึ้นไปที่ 1.25-2.0% แล้วดูสถานการณ์โลกว่าเป็นอย่างไร กระทบกับไทยมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้จะทำให้ดอกเบี้ยประเภทต่างๆ ในไทย ปรับขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าประเทศอื่นๆ เช่นกัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top