รฟม.แจงประมูลสายสีส้มทำถูกต้องตามระเบียบ-มีตัวแทน ACT ร่วมการคัดเลือก

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงว่า ตามที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2565 เรื่อง “กรณี 6.8 หมื่นล้านในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม” การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอชี้แจงกรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ดังนี้

1) การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ รฟม. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงบประมาณ (สงป.) กระทรวงคมนาคม สำนักงานอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน

2) การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562) ประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (ประกาศคณะกรรมการ PPP) กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประกาศ สคร. เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2564 ซึ่งได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับการดำเนินการตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564

3) ในการดำเนินการตามประกาศ สคร. เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการทำข้อตกลงคุณธรรมฯ สคร. ได้มอบหมายให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นองค์กรภาคเอกชนให้ดำเนินการคัดเลือกผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม

4) สคร. ได้แจ้งชื่อผู้สังเกตการณ์ 5 ท่าน ที่ได้รับการคัดเลือกจาก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ โดย รฟม. และผู้สังเกตการณ์ได้ลงนามข้อตกลงคุณธรรม เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 และผู้สังเกตการณ์ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ทุกขั้นตอน

5) ผู้สังเกตการณ์ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนฯ มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานผลการสังเกตการณ์ และในกรณีที่พบเห็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริตให้แจ้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยเร็ว เพื่อให้มีการชี้แจงหรือแก้ไขในระยะเวลาที่ผู้สังเกตการณ์กำหนด หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ชี้แจงหรือแก้ไข ให้ผู้สังเกตการณ์แจ้งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อรายงานต่อ สคร. และกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ทั้งนี้สำหรับกรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้รับแจ้งข้อสังเกตใดจากผู้สังเกตการณ์ ทั้งนี้หากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้รับรายงานพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริตจากผู้สังเกตการณ์ ก็สมควรที่จะนำส่งรายงานดังกล่าวให้ รฟม. สคร. และกระทรวงคมนาคม พิจารณาดำเนินการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top