ธปท.เผยระบบการเงินไทย Q3/65 มีเสถียรภาพ จับตาเงินเฟ้อสูง-ตลาดการเงินโลกผันผวน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาพรวมเสถียรภาพระบบการเงินประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2565 พบว่า ในภาพรวมระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ และอาจกระทบคุณภาพสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมถึงต้องติดตามความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป”

ทั้งนี้ หากจะพิจารณารายละเอียดของเสถียรภาพระบบการเงินที่สำคัญ 8 ด้าน ประกอบด้วย

1. ภาคครัวเรือน ยังเปราะบางต่อเนื่องจากภาระหนี้และค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงจากภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้ต่ำที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

2. ภาคธุรกิจ โดยธุรกิจขนาดใหญ่มีฐานะการเงิน สภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและบางภาคธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ขนส่งสินค้า และวัสดุก่อสร้าง

ขณะที่ธุรกิจ SMEs มีสัญญาณการฟื้นตัวของรายได้จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง คุณภาพสินเชื่อทรงตัว แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น

3. ภาคอสังหาริมทรัพย์ อุปสงค์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ขณะที่โครงการอาคารชุดเปิดใหม่ชะลอลงเล็กน้อย หลังเร่งขึ้นในช่วงต้นปี อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งราคาบ้านที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้าง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบอุปสงค์ที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้า

4. ภาคธนาคารพาณิชย์ และ non-bank ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง เงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า จากการเติบโตของสินเชื่อ ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายกันสำรองปรับลดลง

ขณะที่ NPL ratio ปรับลดลงจากการปรับโครงสร้างหนี้และการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามลูกหนี้บางกลุ่มที่ยังเปราะบาง เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่รายได้ของลูกหนี้บางกลุ่มยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

5. ภาคสหกรณ์ พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนโดยการกู้ยืมมาลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนและตราสารทุนเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ระดับเงินกู้ยืมโดยรวมยังต่ำกว่าในอดีต ทั้งนี้ หากสหกรณ์ออมทรัพย์กู้ยืมเพื่อลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นเมื่อตลาดการเงินมีความผันผวนสูง

6. ภาคตลาดการเงิน แม้ปัจจุบันตลาดการเงินยังมีความผันผวน แต่โดยรวมยังต่ำกว่าในไตรมาสที่ 2 และยังไม่เห็นสัญญาณเงินไหลออกขนาดใหญ่จากกองทุนรวม ทั้งนี้ ระยะถัดไปยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการ reprice ระลอกใหม่ หากเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

7. ภาคต่างประเทศ ยังคงเข้มแข็งจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามแนวโน้มการปรับดีขึ้นของดุลบัญชีเดินสะพัด โดยสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทย ทรงตัวอยู่ที่ 3.0 เท่า เพียงพอต่อการรองรับหนี้ต่างประเทศ ขณะที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มลดลงตามการกลับมาของนักท่องเที่ยว

8. ภาค digital asset ภายใต้ภาวะที่ย่ำแย่ของสินทรัพย์ดิจิทัล ราคาบิตคอยน์ยังผันผวนสอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ตามความไม่แน่นอนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายประเทศ รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ราคาที่ผันผวนดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของนักลงทุนในภาพรวมจำกัด เนื่องจากบัญชีลงทุนส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก โดยความเสี่ยงและนัยของเสถียรภาพระบบการเงินไทยโดยรวมมีจำกัด แต่ต้องติดตามพฤติกรรมการลงทุนที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง เพราะตลาดมีความผันผวนสูงและได้รับความสนใจในวงกว้าง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top