เงินบาทเปิด 38.00 อ่อนค่าจากวานนี้ กังวลสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน,โควิดในจีน

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 38.00 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากปิดตลาดช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 37.94 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่า หลังตลาดมีความกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรงในยูเครนจากการที่รัสเซียยกระดับการโจมตีมากขึ้น และ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีนที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวด้านท่องเที่ยว

“บาทอ่อนค่าจากเปิดตลาดเย็นวานนี้ เนื่องจากตลาดกังวลกรณีรัสเซียยกระดับการโจมตียูเครน และโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีน”

นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 37.90 – 38.10 บาท/ดอลลาร์ แต่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าจากการค้าทองคำ หลังราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลงกว่า 30 ดอลลาร์

“ทิศทางบาทน่าจะแกว่งตัวในกรอบ ตลาดรอดูตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในช่วงค่ำวันพฤหัสฯ แต่บ้านเราเป็นวันหยุด” นักบริหารเงิน กล่าว

THAI BAHT FIX 3M (10 ต.ค.) อยู่ที่ระดับ 1.07571% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 1.20461%

*ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 145.61 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 145.66 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 0.9717 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 0.9706 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 37.797 บาท/ดอลลาร์
  • เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนแล้ว ส่วนจะเกิดเศรษฐกิจโลกถดถอยหรือไม่นั้นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งหน่วยงานเศรษฐกิจทั้ง 3 หน่วยงานได้แก่ กระทรวงการคลัง สศช. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องว่า หากเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยจะเกิดที่ในประเทศ และภูมิภาคใดจึงจะสามารถดูว่าจะกระทบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด และกระทบในภาคส่วนใด
  • สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยจับตาความเสี่ยงหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ หวั่นเกิด ปัญหาผิดนัดชำระ หลังดอกเบี้ยตลาดโลกสูงขึ้น กดดันต้นทุนการเงินเพิ่มเชื่อยังอยู่ในวิสัย ที่ดูแลได้ พร้อมย้ำยังไม่พบสัญญาณน่ากังวล
  • G7 เตรียมจัดการประชุมฉุกเฉินวันนี้เพื่อหารือเกี่ยวกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน หลังจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซียซึ่งมุ่งเป้าไปยังพลเรือนในเมืองต่าง ๆ ทั่วยูเครน
  • ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และประธานธนาคารโลก กล่าวเตือนว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเผชิญภาวะถดถอยในปีหน้า ขณะที่เงินเฟ้อยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครนในเดือนก.
    พ.
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในวันอังคารนี้ (11 ต.ค.) โดยคาดว่าจะมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ, การแพร่ระบาดของโควิด-19, การที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อเศรษฐกิจในทุกทวีป
  • ก่อนหน้านี้ ในการเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในเดือนก.ค. IMF ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และ 2566 สู่ระดับ 3.2% และ 2.9% ตามลำดับ
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (10 ต.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าคาด
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันจันทร์ (10 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าคาดของสหรัฐจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยกดดันตลาดทองคำ
  • นักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย โดยล่าสุดประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส เตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในกลางปีหน้า โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายประการ ซึ่งรวมถึงการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และสงครามในยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ดัชนี CPI ยังคงร้อนแรงในเดือนก.ย. โดยดีดตัวขึ้นมากกว่า 8% แม้ชะลอตัวจากเดือนส.ค.

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 8.1% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 8.3% ในเดือนส.ค. และคาดการณ์ว่า ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.5% โดยสูงกว่าระดับ 6.3% ในเดือนส.ค.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top