Decrypto: ความรับผิดทางกฎหมายของ AI !!! [ตอนที่ 2]

สืบเนื่องจากกรณีความผิดพลาดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ที่ได้กล่าวในบทความที่แล้ว ในสัปดาห์นี้เราจะมาไขข้อสงสัยที่ว่า เมื่อ AI กระทำผิดพลาดจะมีความรับผิดทางกฎหมายอย่างไร ? เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายใด ? ใครเป็นผู้รับผิด ? และจะมีแนวทางดำเนินการเพื่อให้ได้รับการเยียวยาความเสียหายจากการกระทำผิดพลาดของ AI ได้อย่างไร ?

ในปัจจุบัน ภายใต้กฎหมายไทย ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดพลาดของ AI จะฟ้อง AI โดยตรงไม่ได้ เนื่องจาก AI ไม่ถือว่ามีสภาพบุคคล (Personality) ภายใต้กฎหมายไทย (คือ ไม่มีภาวะหรือความสามารถในการเป็นผู้ทรงสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย อันได้แก่การเป็นบุคคลธรรมดา หรือมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ มีความเป็นจริงทางชีวภาพ มีการเกิดและตายตามธรรมชาติ) และไม่ถือเป็นนิติบุคคลที่มีกฎหมายรับรอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อ AI ก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้ได้รับความเสียหายอาจสามารถดำเนินคดีได้ตามฐานกฎหมาย ดังต่อไปนี้

– การฟ้องละเมิดต่อผู้ครอบครอง หรือควบคุม AI ให้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามมาตรา 437 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะ อย่างใด ๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น…”

ยกตัวอย่างเช่น ความเสียหายที่เกิดจากการทำงานผิดพลาดของ AI ในรถยนต์อัจฉริยะ หรือ หุ่นยนต์ AI ผู้เสียหายอาจฟ้องคดีต่อผู้ควบคุมหรือครอบครอง AI นั้น ๆ ได้ โดยตามกฎหมายแล้วในกรณีดังกล่าว ภาระการพิสูจน์จะเป็นของผู้ควบคุมหรือครอบครอง AI (แตกต่างจากกรณีการฟ้องคดีละเมิดทั่วไปที่ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นมีภาระการพิสูจน์ต้องนำสืบเอง)

อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งคำถามว่าหากกรณีดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดของ AI เอง เช่น ระบบรวน หรือ AI ดำเนินการไปเอง โดยที่ผู้ควบคุมหรือครอบครองไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วย ผู้ควบคุมหรือครอบครองจะต้องรับผิดตามมาตรานี้หรือไม่

– การฟ้องผู้ประกอบการ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เนื่องจากหน้าที่ในการสืบ/ภาระการพิสูจน์จะเป็นของผู้ประกอบการ โดยผู้บริโภคสามารถเรียกค่าเสียหายเพื่อเยียวยาได้เป็นสองเท่าของค่าเสียหายตามความเป็นจริง รวมไปถึงสามารถเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทางจิตใจได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งคำถามต่อกรณีนี้ว่าการนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับสินค้าต่าง ๆ จะส่งผลให้สินค้าเหล่านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยเลยหรือไม่ เช่น การนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับรถยนต์อัจฉริยะ หรือกล้องวงจรปิด การจะตีความว่ารถยนต์อัจฉริยะ หรือกล้องวงจรปิดเป็นสินค้าอันตราย ก็อาจจะยังคงไม่ถูกต้องนัก

จากที่กล่าวในข้างต้น จึงเห็นได้ว่า กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงยังไม่อาจครอบคลุมต่อกรณีความรับผิดทางกฎหมายของ AI ส่งผลให้ในระดับนานาชาติได้เสนอแนวทางในการออกกฎหมายเพื่อรับมือกับช่องว่างทางกฎหมายดังกล่าว เช่น รายงานการศึกษาผลกระทบของสหภาพยุโรป ได้เสนอให้ผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ (ทั้งผู้ออกแบบเทคโนโลยี AI, ผู้ผลิตสินค้าที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้, และผู้จำหน่าย) ต้องจัดให้มีการประกันภัยต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น, การเสนอให้จัดทำระบบกองทุนชดเชยความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจาก AI โดยผู้ประกอบการที่ยินยอมจ่ายเงินเข้ากองทุนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ ให้สามารถจำกัดความรับผิดจากการกระทำผิดพลาดของ AI ได้ตามสัดส่วนที่จ่ายเงินเข้ากองทุน

และการเสนอว่าหาก AI ถูกนำมาใช้เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและอาจส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น ปัญญาประดิษฐ์กลุ่มที่สามารถคิดเชิงนามธรรมได้เอง เรียนรู้ และตัดสินใจได้เองอย่างมีอิสระเหนือการควบคุมใด ๆ (Artificial Superintelligence หรือ ASI) จะต้องถูกนำเข้าสู่ระบบการยื่นจดทะเบียน เพื่อตรวจสอบคุณลักษณะและจัดให้มีการควบคุมการใช้โดย European Agency for Robotics and Artificial Intelligence เป็นต้น

ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 65 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป แห่งสหภาพยุโรปได้ประกาศร่างกฎหมาย AI Liability Directive เพื่อเปิดทางฟ้องผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้เทคโนโลยี AI ได้หากก่อให้เกิดความผิดพลาดและสร้างความเสียหาย โดยผู้เสียหายสามารถฟ้องเรียกค่าชดเชยสำหรับความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน สุขภาพ และความเป็นส่วนตัว เนื่องจากความผิดพลาดหรือการละเลยของผู้ให้บริการ ผู้พัฒนา หรือผู้ใช้เทคโนโลยี AI ได้ แต่ก็ยังคงเป็นเพียงร่างกฎหมายที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาและศึกษาอยู่

แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีความแน่ชัดเรื่องความรับผิดทางกฎหมายของ AI ด้วยเหตุที่ความผิดพลาดของ AI นั้น มักเกิดขึ้นจาก AI Algorithm ที่ตัดสินใจผิดพลาดจนก่อให้เกิดความเสียหายเอง ผู้ให้บริการ ผู้พัฒนา AI และผู้ใช้เทคโนโลยี AI ต่างก็ไม่ได้ละเลยหรือมีเจตนาในการก่อให้เกิดความเสียหายนั้น

อีกทั้ง AI Algorithm ที่ตัดสินใจผิดพลาดก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการสร้างโปรแกรมที่ผิดพลาดของผู้พัฒนา AI ด้วย การออกกฎหมายมาเพื่อควบคุมความรับผิดของ AI จึงมีความซับซ้อนมากกว่าปกติเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่าในอนาคต ประเทศต่าง ๆ จะมีแนวทางการดำเนินการเพื่อกำหนดความรับผิดต่อกรณีการกระทำผิดพลาดของ AI และกำหนดการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก AI อย่างไร

นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์

ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญา

และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ต.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top