กิจกรรมการผลิตเอเชียอ่อนกำลัง เซ่นพิษเศรษฐกิจโลกชะลอตัว-จีนคุมโควิด

ผลสำรวจทางธุรกิจในวันนี้ (1 พ.ย.) แสดงให้เห็นว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเอเชียทรุดตัวลงในเดือนต.ค. เนื่องจากความวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอยและการเดินหน้าบังคับใช้นโยบายโควิด-19 เป็นศูนย์ของจีน กดดันอุปสงค์ หลังจากที่เผชิญปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันเรื้อรังและแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงอยู่แล้ว

นักวิเคราะห์ระบุว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มเป็นปัจจัยที่จะกดดันให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในเอเชียดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงินภายในประเทศ เพื่อยับยั้งการเกิดภาวะเงินทุนไหลออกอย่างรุนแรง แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วก็ตาม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กิจกรรมการผลิตเดือนต.ค.หดตัวลงในเกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย ขณะที่กิจกรรมการผลิตในญี่ปุ่นขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมากที่สุดในรอบ 21 เดือน ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงผลกระทบจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงจากจีน และต้นทุนการนำเข้าที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตจีนจากไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอลอยู่ที่ 49.2 ในเดือนต.ค. ซึ่งแม้ว่าปรับตัวขึ้นจากระดับ 48.1 ในเดือนก.ย. แต่ดัชนียังคงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมการผลิตจีนนั้นหดตัว

ดัชนี PMI ภาคการผลิตจีนซึ่งสำรวจโดยภาคเอกชนนั้นสอดคล้องกับดัชนี PMI อย่างเป็นทางการที่เผยแพร่ในวันจันทร์ (31 ต.ค.) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กิจกรรมการผลิตของจีนนั้นลดลงแบบไม่คาดหมายในเดือนต.ค.

“เอเชียพึ่งพาจีนอย่างมาก โดยการเดินหน้าใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์นั้นทำให้ห่วงโซ่อุปทานเผชิญปัญหาติดขัดแบบต่อเนื่อง และทำให้เอเชียขาดแคลนนักท่องเที่ยวจากจีน ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเอเชียด้วย”

นายโทรุ นิชิฮามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันไดอิจิ ไลฟ์กล่าวในกรุงโตเกียว

“อีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือระดับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ โดยหากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยแบบต่อเนื่อง ก็อาจก่อให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากเอเชียและส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก”

อนึ่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่งปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชีย เนื่องจากการดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงินทั่วโลก รวมถึงเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากสงครามในยูเครน และการชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจจีนได้บั่นทอนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชีย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 65)

Tags: ,
Back to Top