WHA อวดกำไร 9 เดือนโต 90% Q4/65 จ่อบุ๊กรายได้โอนที่ดินล็อตใหญ่-ขายสินทรัพย์เข้า REIT

บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) รายงานผลการดำเนินงาน ไตรมาส 3/2565 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรและกำไรสุทธิ ทั้งสิ้น 2,201.0 ล้านบาท และ 258.6 ล้านบาท ตามลำดับ โดยหากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 2,265.9 ล้านบาท และกำไรปกติ 333.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.8 % และ 45.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2564

ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 6,570.0 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,240.3 ล้านบาท โดยหากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 6,669.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.3% และกำไรปกติ 1,325.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอัตราการเติบโตดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวด 9 เดือน ปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.0669 บาท โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 9 ธันวาคม 2565

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม WHA Group เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 มีการเติบโตอย่างโดดเด่น ทั้งนี้เป็นผลจากการขับเคลื่อนของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ที่มีการเติบโตสอดรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ส่งผลให้ภาคการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง ด้วยปัจจัยดังกล่าวส่งผลเชิงบวกต่อภาพรวมธุรกิจของ WHA Group ที่สะท้อนถึงผลประกอบการของ 4 กลุ่มธุรกิจ

– ธุรกิจโลจิสติกส์ มีผลงานการดำเนินงานเติบโตอย่างโดดเด่น จากอานิสงส์การเปิดประเทศที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสภาวะการลงทุนกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2565 บริษัทฯได้มีการลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน / คลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มเติมรวม 137,952 ตารางเมตร ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังมีสัญญาเช่าระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูงรวม 113,955 ตารางเมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ทั้งปีที่ 100,000 ตารางเมตร โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมด 2,715,831 ตารางเมตร และมีความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy Rate) ของบริษัทฯ โดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 94 สำหรับไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น 263.3 ล้านบาท และ 776.1 ล้านบาท ตามลำดับ

โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทฯ มีโครงการที่เตรียมส่งมอบอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการคลังสินค้าใหม่รวมพื้นที่กว่า 51,000 ตารางเมตร รวมทั้งการเปิดตัวคลังสินค้าดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ใหม่อีก 2 โครงการย่านบางนา-ตราด กม. 18 และบางนา-ตราด กม. 23 รวมถึงพื้นที่ส่วนต่อขยายของโครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ เทพารักษ์ กม. 21 (WHA Mega Logistics Center Theparak KM. 21) รวมพื้นที่ทั้งสิ้นกว่า 420,000 ตร.ม.

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าศึกษาเทคโนโลยี และนวัตกรรมอัจฉริยะใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการร่วมมือกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับและสร้างความหลากหลายในการให้บริการแก่ลูกค้า และยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในด้านของผลการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุน ได้แก่ คลังสินค้าอัจฉริยะ เป็นการนำเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวติ้ง และการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้กับคลังสินค้าของดับบลิวเอชเอ นอกจากนั้นบริษัท ดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WHAVH ได้เข้าลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพชั้นนำ อาทิ บริษัท สตอเรจ เอเชีย จำกัด (Storage Asia) บริษัท จิซทิกซ์ จำกัด (Giztix) บริษัท เมอร์คูลาร์ จำกัด (Mercular) และ บริษัท มั่งมี อีคอมเมิร์ซ จำกัด สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซ B2B ที่มุ่งปฏิวัติการค้าแบบดั้งเดิมของไทยให้ทันสมัยด้วยการใช้เทคโนโลยี และข้อมูลแบบบูรณาการเพื่อปรับระบบการทำงานของร้านค้าปลีก (โชห่วย) ให้เป็นรูปแบบดิจิทัล นับเป็นการขยายการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อผสานความร่วมมือและกิจกรรมทางธุรกิจเข้ากับระบบนิเวศโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง เพื่อยกระดับการให้บริการเป็นรูปแบบดิจิทัลทั้งในส่วนของคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าระดับพรีเมียม

นอกจากนี้ WHA Group ยังมีอาคารสำนักงานให้เช่าระดับเวิลด์คลาส 6 แห่ง ในกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ รวมพื้นที่ 100,000 ตร.ม. รวมถึงดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัทฯ ย่านบางนา และ WHA KW S25 โครงการสำนักงานล่าสุด ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2566

สำหรับแผนการขายทรัพย์สิน และ/หรือ สิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ WHART และ WHAIR ยังคงเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ในปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจำหน่ายทรัพย์สินคิดเป็นพื้นที่เช่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 208,149 ตารางเมตร มูลค่าประมาณ 5,397 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4/2565 นี้

– ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย หลังประกาศปรับเป้าหมายยอดขายที่ดินสำหรับปี 2565 เป็น 1,650 ไร่ พร้อมเร่งขยายธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปี 2565 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 1,512 ไร่ แบ่งเป็นในประเทศไทย 1,412 ไร่ ประเทศเวียดนาม 100 ไร่ และยังมียอด MOU รวม 178 ไร่ แบ่งเป็นประเทศไทย 61 ไร่ ประเทศเวียดนาม 117 ไร่ ส่งผลให้ไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 961.3 ล้านบาท และ 2,359.3 ล้านบาท ตามลำดับ

โดยในไตรมาส 3 ปี 2565 ได้ประกาศบิ๊กเซอร์ไพรส์ ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ “บีวายดี” จำนวน 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 นิคมฯแห่งที่ 11 ของบริษัทฯ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี ของ WHA Group สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการสนับสนุนโครงการ EEC เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve Industry) โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เข้ามาลงทุนในประเทศ เพื่อสนับสนุนโยบายของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ มีอีโคซิสเต็มที่ครบครันและพร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้า ที่ต้องการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่เพียงเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น

ขณะที่ยอดขายที่ดินรอโอน (Backlog) ในไตรมาส 3 ปี 2565 มีกว่า 1,300 ไร่ ซึ่งคาดว่าบริษัทฯ จะสามารถทยอยโอนที่ดินส่วนหนึ่งได้ในช่วงที่เหลือของปี 2565 และคาดว่าจะทยอยโอนที่ดินในส่วนที่เหลือทั้งหมดได้ภายในปี 2566 สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนและการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีพื้นที่อุตสาหกรรมพร้อมขายกว่า 4,250 ไร่ นอกจากนี้การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีพื้นที่ทั้งหมด 1,281 ไร่ ในขณะที่การก่อสร้างพื้นที่ส่วนขยายของนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (WHA ESIE 4) ขนาด 573 ไร่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง (WHA IER) เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ส่วนการขยายเขตอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามนั้น ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ล่าสุดได้เร่งพัฒนาพื้นที่ในส่วนของเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน เฟส 2 ขนาด 2,215 ไร่ หลังจากเฟส 1 ขนาด 900 ไร่ ได้พัฒนาแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพื้นที่ร้อยละ 74 ของเฟส 1 ได้ปล่อยเช่าให้กับลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ การแปรรูปอาหาร พลังงานแสงอาทิตย์ วัสดุก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนที่จะพัฒนาในขตนิคมอุตสาหกรรม ขนาด 5,625 ไร่ ในจังหวัดถั่งหัว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุมัติการลงทุนจากภาครัฐ ซึ่งจังหวัดถั่งหัวเป็นหนึ่งในเมืองเศรฐกิจของเวียดนาม มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ และยังเป็นจังหวัดที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์การขนส่งที่สำคัญเพราะใกล้กับกรุงฮานอย และท่าเรือน้ำลึกแหล็กเฮวี่ยน ภายใต้ชื่อโครงการ WHA Smart Technology Industrial Zone – Thanh Hoa เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนด้านเทคโนโลยีมูลค่าสูง และการขยายโครงการ “Northern Technology Corridor” ของประเทศเวียดนาม

ขณะเดียวกันทางบริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจสำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 3 ในประเทศเวียดนาม ที่จังหวัดกว๋างนาม บนพื้นที่ราว 2,500 ไร่ โดยโครงการ ‘WHA Smart Eco Industrial Zone – Quang Nam’ ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ ใจกลางภาคกลาง ใกล้จังหวัดดานังและกว๋างหงาย ในอนาคตโซนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะแห่งนี้ จะรองรับอุตสาหกรรมไฮเทคสะอาด อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องกล ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม การแพทย์ หรือโลจิสติกส์

– ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภครวมในไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2565 เท่ากับ 660.4 ล้านบาท และ 1,945.6 ล้านบาท บริษัทฯ มีปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมสำหรับไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2565 เท่ากับ 36.6 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 111.7 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนปริมาณการจำหน่ายน้ำภายในประเทศสำหรับไตรมาส 3 จำนวน 28.7 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากมีลูกค้าบางรายหยุดปิดซ่อมบำรุง ส่งผลให้ปริมาณยอดจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรมลดลง ขณะที่ปริมาณยอดจำหน่ายน้ำดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value Added Product) ปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ยอดขายน้ำในต่างประเทศในไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ มียอดจำหน่ายน้ำรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 7.9 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 20.7 ล้านลูกบาศก์เมตร ปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยหลักจากปริมาณการจำหน่ายน้ำโครงการ Duong River ในไตรมาส 3 ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจในเวียดนามปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากการเปิดประเทศและสถานการณ์ Covid-19 เริ่มผ่อนคลาย รวมถึงบริษัทฯ สามารถขยายฐานลูกค้าและเพิ่มพื้นที่การให้บริการน้ำประปาที่ครอบคลุมมากขึ้น

และเมื่อเร็วๆนี้ บริษัทฯได้สร้างโรงผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรมคุณภาพสูงและโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 กำลังการผลิตรวม 3.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และยังมีการพัฒนาโรงงานผลิตน้ำปราศจากแร่ธาตุในนิคมอุตสาหกรรมเอเชียที่มีกำลังการผลิต 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังได้เซ็นสัญญาซื้อขายน้ำกับลูกค้าที่ต้องใช้น้ำเพิ่ม ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า กลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมการผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์

ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ เดินหน้าขยายพอร์ตการลงทุนในการพัฒนาโซลูชันด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร / ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์เท่ากับ 190.0 ล้านบาท และ 573.5 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 ส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักจากส่วนแบ่งกำไรปกติจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่ลดลง เนื่องจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ รับรู้รายได้เท่ากับ 74.7 ล้านบาท และ 177.9 ล้านบาทตามลำดับ โดยไตรมาสที่ผ่านมาบริษัทฯ สามารถเซ็นสัญญาโครงการโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มจำนวน 10 สัญญา โดยแบ่งเป็นโครงการ Private PPA จำนวน 8 สัญญา กำลังการผลิตรวมประมาณ 5 เมกะวัตต์ และโครงการ EPC service จำนวน 2 สัญญา กำลังการผลิตรวมประมาณ 6 เมกะวัตต์ ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทฯ มีจำนวนเซ็นสัญญาโครงการ Private PPA สะสมจำนวน 131 เมกะวัตต์ และคาดว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ลงนามทั้งหมดของโครงการโซลาร์รูฟท็อปของบริษัทฯ จะสูงถึง 150 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ บริษัทฯ สามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้าเพิ่มเติมอีก 7 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ ณ ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตโครงการโซลาร์ที่เปิดดำเนินเชิงพาณิชย์แล้วรวม 69 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งหมด 619 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันดิจิทัลที่เป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะโดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ PTT และ Sertis เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานแบบ Peer-to-Peer Energy Trading ภายใต้ชื่อ Renewable Energy Exchange (“RENEX”) ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการทำธุรกรรม และอำนวยความสะดวกในการซื้อขายพลังงานระหว่างผู้ใช้อุตสาหกรรม โดยแพลตฟอร์ม RENEX ได้เข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox ของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน (ERC) กลุ่มธุรกรรมการซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างกันผ่านโครงข่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมการสุดท้ายสำหรับการดำเนินการเชิงพาณิชย์ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ แพลตฟอร์ม RENEX จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทยด้วยการลดต้นทุนด้านพลังงานสำหรับภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้นอีกด้วย

– ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม ภายในสิ้นปี 2565 บริษัทฯ จะติดตั้งและเปิดให้บริการไฟเบอร์ออพติคใต้ดิน (FTTx) แล้วเสร็จสำหรับทั้ง 11 นิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ และพร้อมให้บริการเช่าเสาโทรคมนาคมสำหรับติดตั้งอุปกรณ์รับ-กระจายสัญญาณเครือข่าย 3G, 4G, และ 5G ภายในนิคมฯ ของดับบลิวเอชเอจำนวน 8 ต้น รองรับการใช้งานของกลุ่มลูกค้า ได้แก่ AWN, True และ DTAC รวมถึงบริษัทฯ จะยังคงถือหุ้นร้อยละ 15 ใน Supernap ธุรกิจศูนย์บริการระบบข้อมูลสารสนเทศ (Data Center) ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับ Tier IV

พร้อมกันนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาและผลักดันการนำนวัตกรรมด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับองค์กร พร้อมพัฒนาโซลูชันดิจิทัลของบริษัทฯเอง โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน WHAbit เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ซึ่งรวมถึงบริการ Telemedicine (การให้บริการปรึกษาแพทย์ ผ่านทางเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบ Video conference) ซึ่งถือเป็นการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ ซึ่งเป็นการร่วมกับ โรงพยาบาลสมิติเวช เพื่อส่งเสริมและพัฒนาโซลูชันสำหรับดิจิทัลเฮลธ์แคร์ เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีในปี 2567 โดยบริษัทฯ ได้สร้างโรดแมพ ที่ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ส่งเสริมนวัตกรรมในสถานที่ทำงาน การปรับเปลี่ยนให้เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ตลอดจนการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีการดำเนินการโครงการต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างรากฐานด้านดิจิทัลให้กับองค์กร รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลและทักษะด้านนวัตกรรมให้กับพนักงานของบริษัทฯ

ทั้งนี้ จากภาพรวมธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ทริสเรทติ้ง ได้ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กร ของ WHA Group ที่ระดับ “A-” แนวโน้ม “คงที่” ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และแข็งแกร่ง ของ 4 กลุ่มธุรกิจหลักของบริษัทฯ ทั้งในประเทศ และในประเทศเวียดนาม นอกจากนี้แสดงถึงการมีศักยภาพในการบริหารทางการเงินที่ดี ส่งผลให้บริษัทฯ มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการขายทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์ รวมถึงความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุนทั้งจากตลาดทุนและสถาบันการเงิน เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top