ครม.อนุมัติพัฒนาท่องเที่ยว “อุทยานฯกุยบุรี-สามร้อยยอด-ปากน้ำปราณ” อย่างยั่งยืน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการบูรณาการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Mainstreaming Biodiversity-based Tourism in Thailand to Support Sustainable Tourism Development) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ เพื่อบูรณาการการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับการพัฒนาและการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยว ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้ประเทศจากการท่องเที่ยว ในขณะที่มีการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชน

ทั้งนี้ จะเป็นโครงการนำร่องที่จะส่งเสริมให้มีการเพิ่มการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนให้เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น สร้างประโยชน์โดยตรงให้ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทำให้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility : GEF) ให้การสนับสนุนงบประมาณบางส่วนวงเงินจำนวน 2,639,726 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 97.67 ล้านบาท) สำหรับการดำเนินโครงการตามที่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ประเทศไทยพัฒนาโครงการดังกล่าว

โครงการดังกล่าวจะเป็นการพัฒนากรอบนโยบายด้านการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพที่มุ่งส่งเสริมการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และชุมชนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยที่เป็นการท่องเที่ยวที่หลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย (นำร่อง) 3 พื้นที่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีแหล่งภูมิทัศน์ที่สวยงามและความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญระดับโลก มีระบบนิเวศที่หลากหลาย มีพื้นที่แนวชายฝั่งที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ได้แก่ พื้นที่เป้าหมายหลัก 2 พื้นที่ คือ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดโดยมีพื้นที่ทางบกและทางทะเลคิดเป็น 721,039.93 ไร่ และพื้นที่ทำงานข้างเคียง 1 แห่ง ได้แก่ บริเวณปากน้ำปราณบุรี ที่เป็นพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลและพื้นที่ชุมน้ำสามร้อย ยอดคิดเป็น 107,553.75 ไร่

โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2565-2569 และเมื่อดำเนินโครงการเรียบร้อยแล้ว ผลสำเร็จที่ได้จะประกอบด้วย 3 ประการได้แก่

1.กรอบนโยบาย มีกรอบนโยบายระดับชาติและกลไกการประสานงานที่มีการบูรณาการ และขับเคลื่อนการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การพัฒนากลยุทธ์การท่องเที่ยว บนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพในระดับชาติ และวิธีการประเมินผลกระทบจากการท่องเที่ยวต่อสังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศ ที่น่าเชื่อถือและสามารถนำไปปฏิบัติได้ เป็นต้น

2.สร้างต้นแบบในระดับจังหวัด มีต้นแบบของแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน โดยที่ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการอนุรักษ์ และมีกลไกการเงินสนับสนุนการดำเนินการในพื้นที่ เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น

3.ขยายผล มีองค์ความรู้ที่สร้างจิตสำนึกในคุณค่าและความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และกระบวนการที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เช่น การจัดการองค์ความรู้ การสร้างความตระหนักรู้ และการติดตามและประเมินผล สนับสนุนการสร้างจิตสำนึกให้กับนักท่องเที่ยว ชุมชนท้องถิ่น สมาคมการท่องเที่ยว ให้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ โดยจะนำความสำเร็จในการดำเนินโครงการไปแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อขยายผลการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

“รัฐบาลมีนโยบายหลักที่ต้องการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเอื้อประโยชน์ให้คนในชุมชนอย่างยั่งยืน รายได้จากภาคการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงส่งเสริมโครงการบูรณาการการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นโครงการต้นแบบที่จะสร้างสมดุลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่มีการพัฒนาทั้ง 3 ด้านไปด้วยกัน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม” น.ส.ทิพานัน กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top