
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน ยอมรับว่าค่อนข้างช็อค หลังจากที่ประเทศไทยได้รับจดหมายแจ้งการเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าสินค้า จากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าสหรัฐฯ จะยังเรียกเก็บภาษีสินค้าไทยในอัตราเดิมที่ 36% เพราะไม่คิดว่าไทยจะเป็นประเทศที่อยู่ในรอบแรกที่สหรัฐฯ จะส่งจดหมายแจ้ง เนื่องจากไทยเพิ่งเข้าสู่กระบวนการเจรจาไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา และไทยเพิ่งยื่นข้อเสนอใหม่เพิ่มเติมกลับไปให้สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 ก.ค.
อย่างไรก็ดี มองว่า ตอนนี้ไทยยังพอมีหวังที่จะได้ลดอัตราภาษีลงจากระดับ 36% เพราะสหรัฐฯ ขยายเดดไลน์จากเดิมที่จะเริ่มเก็บ 9 ก.ค. ออกไปเป็นวันที่ 1 ส.ค.68 ซึ่งแม้ไทยจะได้เจรจาไปแค่ครั้งเดียว แต่ก็ได้ส่งข้อเสนอใหม่เพิ่มเติมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น โอกาสที่เราจะได้ลดอัตราภาษีน้อยลงกว่า 36% ยังมีอยู่ โดยต้องลุ้นว่าข้อเสนอที่ส่งไปใหม่นั้น สหรัฐฯ จะยอมรับหรือไม่ ขณะเดียวกัน ต้องคำนึงด้วยว่าสิ่งที่เราเสียสละไป เพื่อที่จะแลกกับการอยู่บนโต๊ะเจรจานั้น มีสินค้าตัวไหนที่ได้รับผลกระทบตามมา
“การบีบการขู่ ด้วยจดหมายแบบนี้ เอาเดดไลน์มาบีบ ให้เราจนมุมขนาดนี้ ก็ทำการทำให้การเจรจามีแรงกดดันสูงมากๆ จึงไม่แน่ใจว่าเราได้ให้อะไรที่ไม่สมควรที่จะให้ ไว้หรือไม่ เพราะไม่ได้มีการเปิดเผยเป็นทางการต่อสาธารณะเลย เพราะถ้ามันเกิดขึ้นจริง ๆ ก็คงต้องเตรียมแผนรองรับ และยาวๆผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทางภาคส่งออกเอง ถ้าโดน 20% ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะแข่งขันได้ หรือโดนเกิน 20% เพราะเราไม่ได้ให้ข้อเสนอที่ดีแบบทางเวียดนาม ก็ต้องยิ่งเตรียมตัวรับผลกระทบหนัก” รองหัวหน้าพรรคประชาชน ระบุ
น.ส.ศิริกัญญา ยอมรับว่าการที่ไทยเริ่มต้นเจรจาช้า ส่งผลมากที่ทำให้ผลออกมาเป็นเช่นนี้ เพราะขณะนี้หลายประเทศเหลือรายละเอียดอีกเพียงไม่กี่อย่างที่ยังตกลงกันไม่ได้ และการที่พูดคุยกันหลายรอบ ก็มีการปรับเปลี่ยนข้อเสนอกันตามเดดไลน์ที่กำหนด เหลือเพียงเล็กน้อยก็บรรลุข้อตกลง
แต่สำหรับประเทศไทย เพิ่งเริ่มเจรจาไปเพียงครั้งเดียว และโดนบีบให้จนมุมด้วยเดดไลน์ที่กระชั้นชิด ทำให้เราต้องยื่นข้อเสนออะไรบางอย่างที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้รัฐบาลออกมาเปิดเผยอย่างจริงจังในข้อเสนอล่าสุดที่ส่งให้สหรัฐไป รวมไปถึงจะต้องได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และจะมีการเยียวยาอย่างไร
พร้อมมองว่า ยังไม่ค่อยเห็นความชัดเจนของรัฐบาลในการเตรียมเยียวยาผลกระทบให้กับผู้ส่งออก และเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมา แม้รัฐบาลเตรียมกันงบไว้ราวหมื่นล้านบาทนั้น ก็มองว่าไม่น่าจะเพียงพอกับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 68)