In Focus: ผ่าวิกฤตคุมเข้มโควิดจีน หลังการประท้วงบานปลายสู่การขับไล่ “สี จิ้นผิง”

ภาพ: รอยเตอร์

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวจีนนับพันคนลุกฮือขึ้นมาประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวด หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารที่พักอาศัยในนครอุรุมชี จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย และกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ลุกลามไปสู่การเรียกร้องให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ลาออก แรงกดดันจากประชาชนได้สั่นสะเทือนพรรคคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง จนล่าสุดทำให้ทางการจีนทบทวนมาตรการดังกล่าวใหม่อีกครั้ง

In Focus สัปดาห์นี้ จึงพาผู้อ่านไปเจาะลึกสถานการณ์ที่ร้อนระอุในจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อสืบเสาะหาสาเหตุ พร้อมจับตาแนวโน้มล่าสุดหลังจากนี้

*ชนวนจากเหตุไฟไหม้มรณะ

“เราไม่ต้องการหน้ากากอนามัย เราต้องการเสรีภาพ เราไม่ต้องการตรวจเชื้อโควิด-19 เราต้องการเสรีภาพ” นี้คือหนึ่งในถ้อยคำอันดุดันของกลุ่มผู้ประท้วงชาวจีนในกรุงปักกิ่ง ที่ออกมาระบายความอัดอั้นต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์สุดตึงเครียดในจีนแผ่นดินใหญ่ และถือเป็นอารยะขัดขืนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ขึ้นครองอำนาจเมื่อทศวรรษก่อน

ภาพ: รอยเตอร์

ชนวนการประท้วงครั้งนี้มาจากกระแสความไม่พอใจต่อเหตุไฟไหม้ในอาคารที่พักอาศัยขนาดสูงแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คนเมื่อคืนวันพฤหัสบดี (24 พ.ย.) ในเมืองอุรุมชี เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ คลิปวิดีโอเหตุเพลิงไหม้ที่แชร์บนสื่อสังคมออนไลน์ของจีนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพากันสันนิษฐานว่าผู้อยู่อาศัยไม่สามารถหลบหนีออกมาได้ทันเวลา เพราะทางเข้าออกบางส่วนถูกปิดตามมาตรการสกัดโควิด อย่างไรก็ดี วิดีโอเหตุเพลิงไหม้ถูกลบออกจากโซเชียลมีเดียในทันที

หลังเป็นกระแสบนโลกออนไลน์ เจ้าหน้าที่ทางการของเมืองอุรุมชีได้ออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างไม่เป็นทางการเมื่อช่วงค่ำวันศุกร์ (25 พ.ย.) โดยรับปากว่า จะลงโทษทุกคนที่ละทิ้งหน้าที่ แต่ยังไม่ทันข้ามวันดี เจ้าหน้าที่ทางการได้จัดการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในช่วงเช้าวันเสาร์ (26 พ.ย.) โดยบอกปัดทุกข้อกล่าวหาที่ว่า มาตรการควบคุมโควิดได้ขัดขวางการหลบหนีและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่กล่าวโทษยานพาหนะที่จอดขวางทางเป็นเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปถึงอาคารที่เกิดไฟไหม้ได้

แถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิเสธทุกข้อกล่าวหายิ่งทวีความโกรธแค้นแก่สาธารณชนเป็นวงกว้าง ประชาชนพากันออกมารวมตัวประท้วงบนถนน ฝ่าแนวกั้น และเรียกร้องให้ทางการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์โควิด โดยตะโกนใส่เจ้าหน้าที่ของรัฐว่า “ยกเลิกการล็อกดาวน์” ขณะที่ชาวซินเจียงกว่า 4 ล้านคนต้องตกต้องอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ที่บังคับใช้มาตั้งแต่เดือนส.ค. หรือกินเวลานานกว่า 100 วันแล้ว

*การประท้วงลุกลามหลายเมือง

เหตุการณ์ประท้วงต่อต้านนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนในเมืองอุรุมชุมได้ลุกลามเป็นวงกว้าง จนกลายเป็นการประท้วงใหญ่ในหลายเมืองทั่วประเทศจีน กลุ่มผู้ประท้วงปักธงเรียกร้องให้มีการยกเลิกการบังคับใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก และผู้ประท้วงบางส่วนยังเรียกร้องให้ปธน.สี จิ้นผิง ลาออกจากตำแหน่งและยุบพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เมื่อวันเสาร์ (26 พ.ย.) ที่เซี่ยงไฮ้ เมืองศูนย์กลางการเงินที่มีประชากรมากที่สุดของจีน กลุ่มผู้ประท้วงได้ออกมารวมตัวกันบนถนนอูลูมูชี ซึ่งเป็นถนนที่ตั้งชื่อตามเมืองอุรุมชี เพื่อจุดเทียนไว้อาลัยและรำลึกถึงให้แก่เหยื่อจากเหตุไฟไหม้ ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเกินไป จนบานปลายเป็นการประท้วงต่อต้านมาตรการโควิดเป็นศูนย์ และเรียกร้องให้ปธน.สี จิ้นผิง ลาออกจากตำแหน่ง

การประท้วงยังคงลุกลามต่อเนื่องจนถึงวันอาทิตย์ (27 พ.ย.) กลุ่มผู้ประท้วงได้ออกมารวมตัวกันบนท้องถนนอีกครั้งในหลายเมืองสำคัญ ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ทางการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมชูกระดาษเปล่าสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงเคลื่อนไปตามถนนเพื่อเรียกร้องเสรีภาพทางการเมือง จนเกิดการปะทะกันในนครเซี่ยงไฮ้ระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจหลายร้อยนาย

ส่วนที่หนานจิง, เฉิงตู, ซีอาน และอู่ฮั่น ก็เกิดการรวมตัวประท้วงมาตรการรับมือโควิดเช่นเดียวกัน โดยบางพื้นที่สถานการณ์บานปลายกลายเป็นเหตุปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีผู้ประท้วงบางรายถูกจับกุมตัวแล้ว หรือแม้แต่เมืองหลานโจว ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ชาวเมืองได้คว่ำเต็นท์เจ้าหน้าที่ตรวจโควิดและทุบบูทตรวจเชื้อ เนื่องจากผู้ประท้วงกล่าวว่าพวกเขาถูกล็อกดาวน์ แม้ว่าไม่มีใครตรวจพบเชื้อ

ไม่เพียงแต่ประชาชนที่ไม่พอใจต่อมาตรการคุมโควิด นักศึกษามหาวิทยาลัยจีนนับร้อยก็ออกมาประท้วงครั้งนี้ด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ที่มหาวิทยาลัยชิงหวา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน นักศึกษาออกมาร่วมจัดกิจกรรมชุมนุมประท้วง และเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ขณะที่มหาวิทยาลัยการสื่อสารแห่งเมืองหนานจิงมีการจุดเทียน และตะโกนข้อความต่อต้านรัฐบาลเช่นกัน

ภาพ: รอยเตอร์

*จีนส่งตำรวจสกัดม็อบ พานักศึกษากลับบ้าน

ภายหลังจากการปะทะกันอย่างดุเดือดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อช่วงเช้าของวันจันทร์ (28 พ.ย.) ทางการจีนได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าประจำการตามเมืองหลวง และเมืองสำคัญอื่น ๆ เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ตลอดจนปิดล้อมพื้นที่ตามท้องถนนของกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หางโจว นานกิง และที่อื่น ๆ ทำให้ฝูงชนไม่อาจเข้ามารวมตัวกันได้

ในกรุงปักกิ่งนั้น พื้นที่มหาวิทยาลัยรวมถึงย่านที่อยู่อาศัยในเขตไห่เตี้ยนเนืองแน่นไปด้วยรถตำรวจ โดยตำรวจควบคุมฝูงชนจำนวนมากเข้ายึดโรงละครเพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการ รวมถึงหลายพื้นที่ในใจกลางเมืองเซี่ยงไฮ้ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยประจำการทั่วทุกพื้นที่เช่นเดียวกัน

ไม่เพียงแต่ทางการจีนส่งตำรวจสกัดการรวมตัวชุมนุม มหาวิทยาลัยหลายแห่งในกรุงปักกิ่งและมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ รวมถึง มหาวิทยาลัยชิงหัวซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมประท้วงสำคัญในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้เริ่มส่งนักศึกษากลับบ้านเกิด โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้นักศึกษาติดเชื้อโควิด-19

มหาวิทยาลัยบางแห่งจัดรถโดยสารรับส่งนักศึกษาไปยังสถานีรถไฟหรือสนามบิน และแถลงว่าจะดำเนินการเรียนการสอนและสอบปลายภาคทางออนไลน์ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการส่งนักศึกษากลับบ้านเร็วขึ้นช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการประท้วง

ต้าหลี่ หยาง ผู้เชี่ยวชาญการเมืองจีนประจำมหาวิทยาลัยชิคาโกแสดงความเห็นว่า ทางการจีนหวังว่าการส่งนักเรียนกลับบ้านจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ สำหรับนักศึกษาแล้ว การดำเนินการเช่นนี้จะทำให้พวกเขาหลุดจากการถูกล็อกดาวน์ในมหาวิทยาลัยแบบที่เป็นมาหลายเดือนด้วยเช่นกัน

*จีนยอมผ่อนปรนมาตรการ แต่ไม่ยอมหัก

หลังจีนเผชิญกับแรงกดดันจากภาคประชาชนอย่างหนัก ทางการจีนได้ผ่อนปรนมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดบางส่วน ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว เพื่อหวังที่จะลดกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่ลุกลามไปทั่วประเทศ

เริ่มตั้งแต่เช้าวันจันทร์หลังเหตุประท้วงสิ้นสุด กรุงปักกิ่งประกาศยกเลิกการตั้งสิ่งกีดขวางทางเข้าอะพาร์ตเมนต์ซึ่งมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ภายใน โดยระบุว่าจะต้องไม่มีสิ่งใดเป็นอุปสรรคต่อการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือการออกจากอาคารในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ส่วนเมืองกว่างโจวประกาศงดการปูพรมตรวจเชื้อโควิด-19 ครั้งใหญ่สำหรับประชาชนในวงกว้าง โดยอ้างถึงความจำเป็นในการรักษาทรัพยากร ขณะที่เมืองอุรุมชี เมืองหลวงของซินเจียงประกาศเปิดตลาดสด และอนุญาตให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดทำการในสัปดาห์นี้สำหรับท้องที่ซึ่งมีการแพร่ระบาดในระดับต่ำ รวมทั้งให้บริการรถโดยสารสาธารณะ

จนกระทั่งเมื่อช่วงบ่ายวันอังคาร (29 พ.ย.) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนแถลงอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดการประท้วง โดยระบุว่า จีนจะยังรักษายุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์ แต่จะเดินหน้าปรับปรุงนโยบายบางส่วนให้เหมาะสมมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตผู้คน รวมถึงพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมโควิดจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์อย่างแม่นยำ และยกเลิกการบังคับใช้มาตรการจำกัดทันทีที่เข้าเกณฑ์ของข้อกำหนดการควบคุมและป้องกันโรคระบาด

เฉิง โหยว-ฉวน เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสาธารณสุขของจีนระบุว่า การร้องเรียนของประชาชนไม่ได้เกิดจากมาตรการควบคุมโควิด แต่เกิดจากความไม่พอใจต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลท้องถิ่นที่ไม่ยืดหยุ่น หรือดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลกลางมากจนเกินไป ซึ่งทางการจะเร่งแก้ไขความกังวลเหล่านี้ พร้อมจัดตั้งทีมพิเศษในแต่ละพื้นที่เพื่อควบคุมการดำเนินมาตรการสกัดโควิดที่มากเกินความจำเป็น

*จีนหนุนฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ

อีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนประกาศเมื่อวันอังคารได้แก่ การเร่งฉีดวัคซีนโควิดให้ผู้สูงอายุ โดยทางการจีนประกาศจะเร่งผลักดันให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยให้กลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มแรก เพื่อเร่งเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเปิดประเทศ

นอกจากนี้ ทางการจีนจะเร่งผลักดันการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น สถานพยาบาล และจะสั่งการให้ผู้ที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีนชี้แจงเหตุผลต่อเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ รัฐบาลจีนจะใช้บิ๊กดาต้า (Big Data) เพื่อดำเนินการค้นหาผู้สูงอายุที่เปราะบางและจำเป็นต้องได้รับวัคซีน

แม้ปัจจุบันประชาชนกว่า 90% จากทั้งหมด 1.4 พันล้านคนในจีนจะได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว ซึ่งถือเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ตัวเลขผู้สูงอายุที่เข้ารับวัคซีนกลับมีจำนวนน้อย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป โดยตัวเลข ณ วันจันทร์ (28 พ.ย.) พบว่า มีประชากรอายุเกิน 80 ปีเพียง 65.8% ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วน เทียบกับ 40% ณ วันศุกร์ที่ 11 พ.ย. และมีเพียง 40% ที่ได้รับวัคซีนเข็มบูสเตอร์ ขณะที่ 86% ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว

*จีนยังคงยึดมั่นนโยบายโควิดเป็นศูนย์

ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามปรับใช้นโยบายอยู่ร่วมกับโควิด รัฐบาลจีนกลับยังคงยึดมั่นในนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งรวมถึง การบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ กักตัว และการปูพรมตรวจหาเชื้ออย่างเข้มงวด แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของจีนถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานก็ตาม

นโยบายดังกล่าวทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดในจีนค่อนข้างต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ มาก นับตั้งแต่การแพร่ระบาด โดยยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการอยู่ที่จำนวนมากกว่า 5,200 ราย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการกักขังประชาชนหลายล้านคนภายในบ้านเป็นเวลานาน และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ตลอดสร้างปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน และทำให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างล่าช้า

นักวิเคราะห์มองว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทางการจีนยังคงประกาศใช้มาตรการโควิดที่เข้มงวดนี้ เป็นเพราะอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยมีเพียง 2 ใน 3 ของผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน ดังนั้น จีนจึงจำเป็นต้องรักษานโยบายโควิดเป็นศูนย์เพื่อปกป้องกลุ่มคนผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เปราะบางและอาจมีอาการรุนแรงหากพบการติดเชื้อ

อีกปัจจัยสำคัญ เนื่องจากชาวจีนยังมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่จะเกิดจากการติดโควิดในอัตราที่ต่ำมาก อันเป็นผลมาจากมาตรการโควิดที่พยายามไม่ให้ประชาชนติดโควิด ดังนั้น หากเกิดการแพร่ระบาดจำนวนมาก ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะมีผู้ป่วยล้นจนระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหว โดยเฉพาะผู้ป่วยหนัก

*ต่างชาติย้ำจีนฟังเสียงประชาชน

ทันทีที่เกิดเหตุการณ์การประท้วงในจีน หลายประเทศออกมาแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้าง นายจอห์น เคอร์บี โฆษกฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวแสดงความเห็นสนับสนุนการประท้วงอย่างสันติของประชาชนในจีน พร้อมย้ำว่า ผู้ประท้วงในจีนไม่ควรถูกทำร้ายร่างกายหรือข่มขู่ ประชาชนควรได้รับสิทธิที่จะชุมนุมและประท้วงอย่างสันติต่อนโยบาย กฎหมาย หรือคำสั่งที่พวกเขาไม่เห็นด้วย

ด้านแคนาดา นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาได้แสดงความเห็นที่ไม่ต่างกันว่า ประชาชนจีนทุกคนควรได้รับอนุญาตให้ประท้วงและแสดงความต้องการของตัวเอง พร้อมเน้นย้ำจุดยืนของแคนาดาในการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน ซึ่งสอดคล้องกับนายเจมส์ เคลเวอร์ลีย์ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลจีนควรฟังเสียงประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการประท้วงต่อต้านนโยบายโควิดเป็นศูนย์ครั้งนี้สะท้อนถึงความไม่พอใจอย่างแท้จริงของประชาชน ดังนั้น จีนจำเป็นต้องเคารพและรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนมากขึ้น

นอกจากผู้นำโลกแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของสหรัฐยังออกมาแสดงความเห็นต่อการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน โดยนายแพทย์แอนโทนี เฟาชี เจ้าหน้าที่การแพทย์ระดับสูงของสหรัฐมองว่า เป็นเรื่องยากมากที่จีนจะสามารถควบคุมโรคระบาดผ่านนโยบายโควิดเป็นศูนย์ พร้อมแนะนำให้จีนผลักดันการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้รอดพ้นจากโควิด

*ก้าวต่อไปหลังจากนี้ : เสียงจากผู้เชี่ยวชาญ

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในอารยะขัดขืนต่ออำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และยังเป็นการดูหมิ่นอย่างชัดเจนต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายกลับมองว่า การประท้วงนั้นยังห่างไกลจากระดับที่จะสั่นคลอนอำนาจของผู้นำจีน

แดน แมททิงลี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยลประเมินว่า การชุมนุมครั้งนี้นั้นห่างไกลจากการชุมนุมใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 ที่นำไปสู่การนองเลือดของประชาชน เพราะตราบใดที่ สี จิ้นผิง ยังมีกองกำลังทหารอยู่เคียงข้าง ผู้นำจีนก็จะไม่เผชิญกับความเสี่ยงต่อการครองอำนาจต่อไปแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน นายแอนดรูว์ นาธาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบียระบุว่า แม้ทางการจีนกำลังจนตรอก แต่ก็ไม่มีทางยอม ตราบเท่าที่จีนยังมีกำลังทหารมากมาย และหากจำเป็น ทางการจีนก็อาจใช้มันเหมือนเมื่อครั้งปี 2532

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินหลายฝ่ายยังมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะการที่ประชาชนชาวจีนลุกฮือประท้วงเพื่อต่อต้านมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดนั้น อาจผลักดันให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยกเลิกการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์เร็วขึ้น

นายกาเบรียล วิลเดา กรรมการผู้จัดการบริษัทเทนีโอ โฮลดิงส์ในรัฐนิวยอร์กระบุว่า “ผมไม่คิดว่าปธน.สีจะออกมายอมรับความผิดพลาดและแสดงความอ่อนแอต่อหน้าสาธารณชน แต่การประท้วงในครั้งนี้อาจผลักดันให้รัฐบาลจีนเริ่มหันมาพิจารณาการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในเวลาที่รวดเร็วกว่าแผนเดิมที่วางไว้”

ส่วนนายโรเบิร์ต มัมฟอร์ด ผู้จัดการการลงทุนของบริษัทจีเอเอ็ม ฮ่องกงแสดงความเห็นที่สอดคล้องกันว่า “แรงกดดันจากสาธารณชนอาจกระตุ้นให้มีการเปิดประเทศเร็วขึ้น ซึ่งนั่นจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องเฝ้าดูต่อไปว่า รัฐบาลจีนจะตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร”

ท้ายที่สุดแล้ว แม้การประท้วงจะทวีความรุนแรงหรือยกระดับขึ้นอย่างไร การยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างฉับพลันในจีนนั้น คงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้แค่ชั่วข้ามคืน เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำ หรือขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วย แต่จีนจะมีวิธีการอย่างไรในการรับมือกับข้อเรียกร้องของประชาชนและการแพร่ระบาดของโรค เราก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top