เครดิตสวิสเผยประชากรเอเชียหดตัว ส่งผลกระทบต่อตลาดทั่วโลก

เว็บไซต์เครดิตสวิสรายงานว่า ในช่วงเวลา 10 ปีจนถึงปี 2562 นั้น เศรษฐกิจของ 10 ประเทศในเอเชีย หรือที่เรียกว่ากลุ่ม A-10 มีสัดส่วนสูงถึง 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลก และคิดเป็น 60% ของการส่งออกสินค้าทั่วโลก นอกจากนี้ กลุ่ม A-10 ยังสามารถจัดหาเงินทุนให้กับพื้นที่อื่น ๆ ของโลกคิดเป็นมูลค่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่การที่ 5 ประเทศในกลุ่ม A-10 เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วได้ส่งผลกระทบต่ออุปทานแรงงานและเงินทุนโลก

สำหรับประเทศกลุ่ม A-10 ของเอเชียนั้น ประกอบไปด้วย จีน ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน

ภูมิภาคเอเชียมีประชากรคิดเป็นเกือบ 60% ของโลก และเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูขึ้นตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้พลิกโฉมเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียยังได้พิสูจน์ให้เห็นถึงสถานะการศูนย์กลางการผลิตโลกและผู้จัดหาเงินที่สนับสนุนการบริโภคในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า การที่จำนวนประชากรขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงและอายุเฉลี่ยของประชากรเพิ่มสูงขึ้นนั้น นับเป็นเรื่องปกติในช่วงที่ประเทศเจริญรุ่งเรือง แต่การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ในประเทศกลุ่ม A-10 นั้นรวดเร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศ A-10 เติบโตรวดเร็วกว่าสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐกว่า 2 – 3 เท่า เมื่อพิจารณาจากระดับรายได้เท่า ๆ กัน แต่อัตราการเกิดของประชากรกลับลดลงเร็วกว่า 5 – 10 เท่า

ขณะเดียวกัน ประเทศ A-10 เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าเช่นเดียวกัน โดยในขณะที่อายุเฉลี่ยของประชากรใน EU และสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 30 ปีเป็น 40 ปีในช่วงครึ่งศตวรรษ ส่วนอายุเฉลี่ยของประชากรในเกาหลีใต้อยู่ที่ 17 ปี ขณะที่ญี่ปุ่น จีน และไทยอยู่ที่ 22-24 ปี โดยไทยและจีนมีอายุเฉลี่ยสูงกว่าและความมั่งคั่งต่อหัวต่ำกว่าทุกประเทศนอกยุโรปตะวันออก โดยอาจแก่ชราก่อนที่จะมั่งคั่ง

แนวโน้มการลดลงของประชากรวัยทำงานในภูมิภาคเอเชียไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเอเชียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ของโลก โดยประเทศกลุ่ม A-10 คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรวัยทำงานโลกในปี 2553 แต่ประชากรวัยทำงานจะลดลงภายในปี 2575

อย่างไรก็ตาม การทำเกษตรที่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้มีแรงงานเข้าไปเสริมในภาคอุตสาหกรรมและบริการ นอกจากนี้ คุณภาพของแรงงานอาจสำคัญกว่าปริมาณ แม้อัตราการเกิดอยู่ในระดับต่ำ แต่การศึกษาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งที่สุด

ปกติแล้วผู้ที่มีการศึกษาสูงมักจะเกษียณอายุช้ากว่าเดิม ทำให้ชีวิตการทำงานยาวนานมากขึ้นและมีประสิทธิภาพการทำงานมากยิ่งขึ้น แม้ความต้องการพนักงานภาคบริการสูงขึ้น แต่เครดิตสวิสมองว่า อุปทานแรงงานภาคอุตสาหกรรมจากประเทศ A-10 สร้างความเสี่ยงต่อห่วงโซ่คุณค่าโลก (global value chains) น้อยกว่าที่วิตกกังวล อย่างน้อยก็ตลอดช่วงทศวรรษหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top