IPOInsight: KTMS มีครบจบที่เดียว “ฟอกไตเทียม” ความหวังของชีวิต

ปิดจ็อบส่งท้ายปีกับ บมจ.เคที เมดิคอล เซอร์วิส (KTMS) กวาดยอดขายหุ้น IPO เกลี้ยง 76.64 ล้านหุ้น ประกาศเดินหน้าเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 23 ธันวาคมนี้

KTMS คือใคร ?

KTMS ประกอบธุรกิจการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ทั้งในรูปแบบคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางไตเทียม (StandAlone) และหน่วยไตเทียมในโรงพยาบาล (Outsource) ปัจจุบันมีเครื่องไตเทียมรวมจำนวน 254 เครื่อง มีหน่วยไตเทียมจำนวน 20 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ

KTMS กับการเติบโต

นางสาวกาญจนา พงศ์พัฒนะเดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTMS เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเกือบ 20% ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้ผู้ป่วยโรคไตเพิ่มมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งคือผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน และความดัน ก็มีโอกาสเกิดอาการไตวายตามมา

ณ ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมกว่าแสนราย และคาดว่าผู้ป่วยโรคไตจะเพิ่มขึ้นอีกราวปีละ 10-15%

KTMS กับข้อได้เปรียบทางธุรกิจ

นางสาวกาญจนา กล่าวว่า ธุรกิจที่ทำอยู่เป็นธุรกิจเฉพาะทาง โดดเด่นด้วยความเชี่ยวชาญมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะตนเองเป็นพยาบาลที่อยู่ในธุรกิจนี้มากว่า 15 ปี รวมถึงยังมีบริษัท บริษัท เออร์วิง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (IRV) ที่ให้บริการติดตั้งระบบน้ำสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมโดยเฉพาะมามากกว่า 20 ปี จึงสามารถให้บริการได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“เราสามารถให้บริการออกแบบตกแต่งหน่วยไตเทียม ผลิตน้ำยาไตเทียม ติดตั้งระบบน้ำสำหรับฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ติดตั้งระบบน้ำเสียหลังจากฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม นี่คือจุดเด่นของ KTMS เรื่อง One Stop Services” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าว

นางสาวกาญจนา กล่าวอีกว่า คู่แข่งในตลาดก็มี แต่ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับ KTMS เพราะการให้บริการแบบครบวงจร KTMS น่าจะเป็นเจ้าเดียวที่สามารถทำได้ และยังเป็นบริษัทเดียวในธุรกิจนี้ที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

KTMS กับแผนระดมทุน
  • โครงการลงทุนในสถานพยาบาลฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 155 ล้านบาท
  • โครงการลงทุนในโรงงานผลิตน้ำยาไตเทียมและศูนย์บริการวิศวกรรมจำนวน 61 ล้านบาท
  • ใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน 10.01 ล้านบาท
KTMS กับทิศทางในอนาคต

นางสาวกาญจนา กล่าวว่า ในปี 66 บริษัทเตรียมขยายสาขาเพิ่มอีก 14 สาขาทั่วประเทศ แบ่งเป็น Stand Alone 6 สาขา และ Outsource 8 สาขา และเงินระดมทุนอีกส่วนหนึ่งใช้เพื่อลงทุนโรงงานผลิตน้ำยาไตเทียมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตมากถึง 2 ล้านแกลลอนต่อปี จากปัจจุบัน 9 แสนแกลลอนต่อปี จากโรงงานที่กรุงเทพเพียงแห่งเดียว

“ช่วงที่ผ่านมา เรามีรายได้เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (CAGR) ที่ 30.73% ซึ่งจากแผนขยายสาขาของเรา ก็จะทำให้เราเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่วนราคา IPO ที่ 3.10 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E ที่ประมาณ 37.29 เท่า ถือว่าเหมาะสม เพราะเรามีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและให้บริการครบวงจร รวมถึงแนวโน้มของผู้ป่วยก็มีเพิ่มมากขึ้น อีกอย่างคือการสนับสนุนของภาครัฐ อาทิ สปสช. ก็ช่วยให้ธุรกิจของเรามีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน” นางสาวกาญจนา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top