เบาใจได้! โรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา ไม่ติดต่อระหว่างคน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากรายงานผู้เดินทางชาวเกาหลีใต้ติดเชื้อ และเสียชีวิตด้วยอาการสมองอักเสบ จากการติดเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri หลังกลับจากประเทศไทยนั้น สำหรับโรคสมองอักเสบมักมีอาการ 1-12 วันหลังได้รับเชื้อ (เฉลี่ยประมาณ 5 วัน) ที่เข้าทางจมูก และเชื้อเข้าสมองผ่านเส้นประสาทรับกลิ่น (olfactory nerve) โดยอาการที่พบ ได้แก่ ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน คอแข็ง ความรู้สึกตัวลดลง ชักเกร็ง อาการจะค่อยๆ แย่ลงและเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ โรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri พบได้ทั่วโลก ในช่วง 40 ปี (2526-2564) ประเทศไทยพบเพียง 17 ราย ในจำนวนนั้น 14 คน (82%) เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 12 ปี (ต่ำที่สุด 8 เดือน มากที่สุด 71 ปี) เป็นสัญชาติไทย 16 ราย และสัญชาตินอร์เวย์ ที่เดินทางกลับจากไทย 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบในช่วงฤดูร้อน และผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มีประวัติสำลักน้ำที่ไม่สะอาดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น สระน้ำ บ่อน้ำ แต่ไม่ติดต่อจากการดื่มน้ำ และไม่ติดต่อจากคนสู่คน

ทั้งนี้ มีวิธีการป้องกันติดเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri จากการสำลักน้ำ ได้แก่

1. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือดำน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สะอาด

2. ระมัดระวังไม่ให้สำลักน้ำเข้าโพรงจมูก ถ้าสำลักให้รีบสั่งน้ำออกแรงๆ ทางจมูก

3. รีบล้างจมูกด้วยน้ำต้มสุกที่สะอาดหรือน้ำเกลือ

4. ผู้ที่มีประวัติเสี่ยงร่วมกับมีอาการป่วยน่าสงสัย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการสัมผัสน้ำไม่สะอาด การสำลักน้ำ หรือการใช้น้ำในการล้างจมูกให้แพทย์ทราบ เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัย

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่ควรใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดสาดเล่น และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะล้างจมูก ในส่วนของสระว่ายน้ำ ควรรักษาความสะอาดตามมาตรฐาน ตามคำแนะนำของกรมอนามัย โดยมีการตรวจวัด และเติมสารคลอรีนให้มีปริมาณคลอรีนตกค้างอิสระ 1-2 มิลลิกรัมต่อลิตร

“ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และขอบคุณการแจ้งข่าวจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ที่ทำให้กรมควบคุมโรคได้ใช้ข้อมูลนี้ ในการให้ความรู้เรื่องโรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา (Naegleria fowleri) กับประชาชนเพื่อการป้องกันโรค เป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ดีของความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐเกาหลีที่มีมาอย่างยาวนาน และเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพของทั้งสองประเทศ” นพ.ธเรศ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ธ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top