สงครามเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีนเดือด สบช่องโอกาสลงทุนในไทย

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่มีการดำเนินมาตรการทางภาษีตอบโต้ระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 2561 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และความขัดแย้งได้ขยายวงกว้างไปยังด้านอื่น โดยเฉพาะการแย่งชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเป็นมหาอำนาจของโลก

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน พบว่า สหรัฐฯ มีจุดแข็งคือการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ (ความสามารถในการวิจัยพื้นฐาน และคิดค้นสิ่งที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน) และมีความสามารถในการเปลี่ยนผ่านนวัตกรรมให้ใช้งานได้ดีกว่าเดิม หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ได้เปรียบจีนด้านนวัตกรรมที่โดดเด่น สัดส่วนการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีระดับกลาง และความคืบหน้าของเทคโนโลยียุคใหม่ อาทิ เทคโนโลยีควอนตัม เซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ

ขณะที่จีนมีจุดแข็ง คือการประยุกต์และการต่อยอดเทคโนโลยีเดิม และความสามารถในการผลิต เนื่องจากจีนมีแรงงานทักษะมหาศาล รวมไปถึงสามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ทำให้จีนเป็นโรงงานของโลก โดยจีนได้เปรียบสหรัฐฯ ด้านการครอบครองทรัพยากรสำคัญในยุคเทคโนโลยี เช่น ลิเทียม ธาตุหายาก แกรไฟต์ การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีระดับสูง และความคืบหน้าของเทคโนโลยียุคใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ การสื่อสารแบบไร้สาย และพลังงานสีเขียว

ทั้งนี้ แนวโน้มการแข่งขันและการแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีแนวโน้มเร่งตัวรุนแรงขึ้น มีโอกาสส่งผลต่อไทย อาทิ การเป็นแหล่งผลิตทางเลือกที่สามารถสนับสนุนเป้าหมายของสหรัฐฯ ในการร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ โอกาสที่ไทยจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพที่สหรัฐฯ ให้การส่งเสริม ซึ่งเป็นสาขาที่สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของไทย และโอกาสในการดึงดูดการลงทุนของไทย จากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนเพิ่มขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงตามยุทธศาสตร์ China Plus One

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ไทยยังต้องจับตาและเฝ้าระวัง อาทิ การส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศในไทยในอนาคต ความขัดแย้งในประเด็นไต้หวันหากรุนแรงขึ้น อาจทำให้เกิดการหยุดชะงักของอุปทานเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง

รวมถึงไทยที่เป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งมีเซมิคอนดักเตอร์เป็นชิ้นส่วนสำคัญ อีกทั้งใจกลางความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งในระยะสั้น (ปัจจุบัน-ปี 2568) และในระยะกลาง (ปัจจุบัน-ปี 2573) อาจสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือส่งผลกระทบต่อการลงทุน การผลิต การค้า และห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการกีดกันเทคโนโลยีขั้นสูงระหว่างห่วงโซ่อุปทานของทั้ง 2 ชาติ และประเทศพันธมิตรที่มีแนวโน้มแยกจากกัน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป้าหมายของไทย ในสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ในอนาคต

นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับต่อจากนี้ เทคโนโลยีจะเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติในมิติต่างๆ อีกทั้งสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะทำให้ภูมิทัศน์ของห่วงโซ่อุปทานทางเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ซึ่งไทยควรเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบ และใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

1. ส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อให้ไทยสามารถพัฒนา หรือร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง และสามารถขยายฐานการผลิต และแข่งขันได้ต่อไปในอนาคต รวมถึงเชิญชวนแบบเฉพาะเจาะจง สำหรับบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ที่ไทยต้องการให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ ตลอดจนดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูง หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี

2. เตรียมพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงเร่งพัฒนาแรงงานฝีมือ และการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป้าหมาย

3. ปรับตัวให้สอดรับกับการแบ่งขั้วห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีสำคัญระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยยึดโยงกับห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศ ผ่านการส่งออกสินค้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐฯ จีน และประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานสำคัญภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) และส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทย ที่สอดรับกับเป้าหมายของสหรัฐฯ และจีน

4. เร่งส่งเสริมการค้าสินค้าเทคโนโลยี โดยในช่วง 5 ปีล่าสุด (2560-2564) มูลค่าการส่งออกเทคโนโลยีระดับกลาง (เช่น เครื่องยนต์ ยานยนต์) ของไทยขยายตัวเฉลี่ย 3.6% ต่อปี ขณะที่สินค้าเทคโนโลยีระดับสูง (เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์) ขยายตัวเฉลี่ย 1.5% ต่อปี ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ซึ่งอยู่ที่ 6.9% และ 4.2% ตามลำดับ จึงยังมีโอกาสที่ไทยจะส่งเสริมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีระดับกลางและระดับสูงต่อไปได้อีก

5. ลดความผันผวนของห่วงโซ่อุปทานและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ไม่ให้พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป โดยส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้า และมองหาคู่ค้ารายใหม่

6. เร่งส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีเป้าหมาย

7. ผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์จากกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับอนุภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากการยกเว้นภาษี การเก็บภาษีระดับต่ำ และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin)

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ภาครัฐและภาคเอกชน ควรกระชับความสัมพันธ์ร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน และการลงทุนที่มีแนวโน้มย้ายสู่อาเซียนมากขึ้น อีกทั้งผนึกกำลังเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจร่วมกับชาติพันธมิตรอาเซียน ทั้งนี้ ประเทศไทยควรบริหารความสัมพันธ์กับ 2 ประเทศอย่างสมดุล มุ่งสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนที่เสรี และเป็นมิตรกับทุกประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top