ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) มาอยู่ที่ระดับ “A+” จากระดับ “A” และปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทมาอยู่ที่ระดับ “A” จากระดับ “A-” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของกระแสเงินสดของบริษัทจากการเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer — IPP) ของบริษัท โดยกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นจะช่วยลดแรงกดดันจากภาระหนี้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นนั้นสะท้อนการด้อยสิทธิทางโครงสร้างในสิทธิเรียกร้องของหุ้นกู้เมื่อเทียบกับภาระเงินกู้ของบริษัทย่อยของบริษัท
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ตลอดจนการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ผลงานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับ รวมถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูงจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ได้รับอันดับเครดิต “AAA/Stable”) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ลดทอนลงจากความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการลงทุนในต่างประเทศและการขยายธุรกิจที่รวดเร็วของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
– กระแสเงินสดจะเพิ่มขึ้น ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ากระแสเงินสดของบริษัทจะยังคงอยู่ในช่วงเติบโตในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยโรงไฟฟ้า IPP ขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่งของบริษัทที่มีกำลังการผลิตติดตั้งเมื่อคิดตามสัดส่วนการลงทุนรวมกันประมาณ 3,700 เมกะวัตต์นั้นจะทำให้กระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง ณ ปัจจุบันกำลังการผลิตจำนวนครึ่งหนึ่งได้ดำเนินการจ่ายไฟแล้วและมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากำลังการผลิตส่วนที่เหลือจะสามารถเปิดดำเนินงานในช่วงปี 2566-2567 ได้ตามกำหนดการ
ทริสเรทติ้งคาดว่ากำลังการผลิตติดตั้งรวมตามสัดส่วนการลงทุนของโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้วของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,700 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้าจาก 4,966 เมกะวัตต์ ณ เดือนธันวาคม 2565 ซึ่งกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวน่าจะช่วยให้รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.15 แสนล้านบาทในปี 2568 จากประมาณ 1 แสนล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.1 หมื่นล้านบาทในปี 2568 จากประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 โดยอัตราส่วน EBITDA Margin (EBITDA ต่อรายได้) ของบริษัทน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 30% ในช่วงประมาณการ ทั้งนี้ บริษัทจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมเพียงประมาณ 10% ของรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าซึ่งช่วยให้บริษัทได้รับผลกระทบในเชิงลบจากความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติในระดับที่จำกัด
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลจำนวน 4-6 พันล้านบาทต่อปีจาก บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (INTUCH) ในช่วงระหว่างปี 2566-2568 โดยได้รับเงินปันผลพิเศษประมาณ 2 พันล้านบาทในปี 2566 ซึ่งเงินปันผลจำนวนมากดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่กระแสเงินสดของบริษัท
– แรงกดดันจากภาระหนี้จะลดลง ทริสเรทติ้งเชื่อว่าระดับการก่อหนี้ของบริษัทได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว โดยแม้บริษัทจะยังคงมีการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วแต่กระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นก็น่าจะช่วยให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 7 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากระดับเกือบ 10 เท่าในปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่างบลงทุนรวมของบริษัทจะอยู่ในช่วง 2-4 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2566-2568
ทริสเรทติ้งคาดหมายว่าบริษัทจะควบคุมระดับการก่อหนี้ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทเพิ่งลดสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่งแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนีลงเหลือ 25% จาก 50% ซึ่งเงินสดที่ได้รับจากการขายหุ้นจำนวน 305 ล้านยูโรหรือประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาทนั้นก็ช่วยให้บริษัทบริหารจัดการภาระหนี้สินได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่บริษัทขยายการลงทุนอย่างรวดเร็ว และยังทำให้บริษัทไม่ต้องนับรวมหนี้ของโรงไฟฟ้าดังกล่าวจำนวน 541 ล้านยูโรหรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาทเข้ามาในงบการเงินอีกด้วย ทั้งนี้ เงินลงทุนต่าง ๆ จำนวนมากของบริษัทช่วยสร้างความยืดหยุ่นทางการเงินเนื่องจากบริษัทสามารถขายเงินลงทุนบางส่วนเพื่อลดภาระหนี้ในกรณีที่จำเป็น
– โครงสร้างหนี้ ณ เดือนกันยายน 2565 หนี้สินรวมของบริษัทมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2.63 แสนล้านบาทซึ่งจำนวน 1.59 แสนล้านบาทนั้นเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ซึ่งประกอบด้วยหนี้เงินกู้ที่มีหลักประกันของบริษัทและหนี้เงินกู้ทั้งหมดของบริษัทย่อย ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 60% และส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความด้อยสิทธิ์กว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากลำดับสิทธิ์เรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท?
– มีสถานะเป็นผู้นำตลาด บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากขนาดการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2565 บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้ารวมกันที่ขนาด 8,622 เมกะวัตต์ ซึ่งจำนวน 4,966 เมกะวัตต์นั้นมาจากโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้ว ในขณะที่ตามกำหนดการแล้วนั้นโรงไฟฟ้าทุกแห่งของบริษัทที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาจะแล้วเสร็จภายในปี 2570
กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อพิจารณาจากกลยุทธ์การเติบโตและโครงการต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการพัฒนา โดยบริษัทในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้านั้นอยู่ในสถานะที่จะได้ประโยชน์จากเป้าหมายของภาครัฐที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Greenhouse Gas Emission) โดยมีโควตาในการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งแสวงหาโอกาสในการซื้อกิจการต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้มีสัดส่วนการลงทุนในพลังงานสะอาดที่เพิ่มมากขึ้น ในการนี้ ทริสเรทติ้งไม่ได้รวมการซื้อโครงการต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในประมาณการในครั้งนี้
– ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีการกระจายการลงทุนที่ดี การลงทุนในโรงไฟฟ้าของบริษัทนั้นมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีโดยบริษัทลงทุนในโรงไฟฟ้าจำนวนมากกว่า 30 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงถือเป็นสินทรัพย์หลักของบริษัทโดยคิดเป็นสัดส่วน 93% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดหรืออยู่ที่ขนาด 8,057 เมกะวัตต์ ในขณะที่กำลังการผลิตส่วนที่เหลืออีก 565 เมกะวัตต์มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังลมหลายแห่งในประเทศเวียดนาม (229 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าพลังลม 1 แห่งในประเทศเยอรมนี (116 เมกะวัตต์) รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังลมและโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอีกหลายแห่งในประเทศไทย (221 เมกะวัตต์)
บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้เป็น 30% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2573 จากประมาณ 8% ในปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นบริษัทจะต้องมีกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีกประมาณ 5,000 เมกะวัตต์จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ บริษัทเพิ่งซื้อหุ้นในสัดส่วน 50% ใน บริษัท กัลฟ์ กันกุล คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทและ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) ซึ่งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังลมขนาดกำลังการผลิต 178 เมกะวัตต์ในประเทศไทย
โรงไฟฟ้าของบริษัทที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทยโดยจำแนกเป็นโรงไฟฟ้าระบบผลิตพลังงานร่วมหรือโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer — SPP) จำนวน 19 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนที่ขนาด 1,266 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined-cycle) ภายใต้โครงการ IPP จำนวน 6 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนที่ขนาด 6,043 เมกะวัตต์ โดยได้รวมกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้า IPP “หินกอง พาวเวอร์” และ “บูรพา พาวเวอร์” อีกจำนวน 965 เมกะวัตต์เข้ามาด้วย
นอกจากโรงไฟฟ้าภายในประเทศแล้วบริษัทยังอยู่ระหว่างการซื้อหุ้นในสัดส่วน 49% ใน Jackson Generation, LLC ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงขนาดกำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทจะใช้เงินลงทุนในการซื้อหุ้นดังกล่าวที่จำนวน 409.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 1.4 หมื่นล้านบาท
– มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูง จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในระดับสูงจากโรงไฟฟ้าของบริษัทอันเนื่องมาจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีกลไกในการส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิง ปัจจุบันบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 90% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนให้แก่ กฟผ. ภายใต้โครงการ SPP และ IPP โดยแต่ละสัญญาที่ทำกับ กฟผ. มีอายุ 25 ปีนับจากวันที่โรงไฟฟ้าเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ สำหรับโครงการ IPP นั้น กฟผ. จะต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment — AP) เต็มจำนวนให้แก่บริษัทตราบเท่าที่บริษัทสามารถดำรงความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และแม้ว่า กฟผ. จะไม่สั่งจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า IPP ของบริษัท กฟผ. ก็ยังคงต้องจ่ายชำระในส่วนของค่า AP ให้แก่บริษัท
ส่วนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการ SPP นั้นจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย โดยสัญญา SPP นั้น กฟผ. จะต้องสั่งจ่ายไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาซึ่งคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่สามารถดำเนินงานได้ ทั้งโรงไฟฟ้า IPP และ SPP นั้นต่างก็มีกลไกในการส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้กระแสเงินสดที่ได้จากโรงไฟฟ้าเหล่านี้สามารถคาดการณ์ได้ในระดับสูง
– มีประวัติผลงานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้า IPP และ SPP ที่ได้รับการยอมรับ คณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการของบริษัทมีประสบการณ์ในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าในประเทศไทยมากว่า 20 ปี คณะผู้บริหารยังคงมีผลงานที่แสดงถึงความสามารถในการบริหารโครงการได้เป็นอย่างดี โดยโรงไฟฟ้าเกือบทุกโครงการของบริษัทที่ปัจจุบันเปิดดำเนินงานแล้วนั้นล้วนพัฒนาแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเวลาที่กำหนดและภายใต้งบประมาณที่ตั้งไว้ ซึ่งผลงานเหล่านี้ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าโครงการที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบันจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ โรงไฟฟ้า SPP และ IPP ของบริษัทยังสามารถดำรงความพร้อมจ่ายได้สูงเกินกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
บริษัทบริหารความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการด้วยการลงนามในสัญญารับเหมางานวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และงานก่อสร้าง (Engineering, Procurement, and Construction — EPC) กับผู้รับเหมาที่มีชื่อเสียง เช่น Toyo Engineering Corporation และ Mitsubishi Hitachi Power System (MHPS) ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าของบริษัทยังใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้วจากผู้ผลิตที่มีชื่อเสียง อาทิ Siemens รวมทั้ง GE และ Mitsubishi เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทยังมีสัญญาให้บริการซ่อมบำรุง (Long-term Service Agreements — LTSA) และสัญญาจัดหาอะไหล่ระยะยาว (Long-term Parts Agreement — LTPA) กับผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์อีกด้วย
โดยสัญญาบริการต่าง ๆ เหล่านี้ซึ่งมีอายุเท่ากับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะช่วยสร้างความมั่นใจในการรับบริการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์หลัก ๆ ของโรงไฟฟ้าและช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาอะไหล่ต่าง ๆ ทั้งนี้ การมีสินทรัพย์โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ดังกล่าวยังช่วยให้บริษัทได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและได้รับเงื่อนไขทางการค้าที่ดีจากผู้ผลิต นอกจากนี้ การมีโรงไฟฟ้า SPP ที่มีรูปแบบเดียวกันรวมถึงการบริหารจัดการอะไหล่แบบรวมศูนย์ยังช่วยให้บริษัทมีอะไหล่ที่เพียงพอและยังสามารถบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพอีกด้วย
– ความเสี่ยงจากการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการลงทุนในต่างประเทศน่าจะคิดเป็นสัดส่วน 10%-20% ของการลงทุนทั้งหมดของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า แม้จะสร้างโอกาสในการเติบโตแต่การลงทุนในต่างประเทศก็มักมีความเสี่ยงที่สูงกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วอย่างประเทศเวียดนาม ความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดนั้นประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ การบังคับใช้สัญญา โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ และสถานะเครดิตของคู่สัญญาที่ซื้อขายไฟฟ้า
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่งแห่งหนึ่งของบริษัทในประเทศเวียดนามได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ส่งผลให้มีเพียงประมาณ 4 เมกะวัตต์จากกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนรวมจำนวน 122 เมกะวัตต์ที่สามารถเปิดดำเนินงานได้ทันก่อนที่ราคาจำหน่ายไฟฟ้าแบบ FiT จะหมดอายุลงในเดือนพฤศจิกายน 2564 และทำให้กำลังการผลิตที่เหลืออีกจำนวน 118 เมกะวัตต์จำเป็นต้องรอ FiT ใหม่ซึ่งน่าจะประกาศใช้ภายในปี 2566 อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์โรงไฟฟ้ารวมของบริษัท โดยปัจจุบันเงินลงทุนในประเทศเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 3% ของเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท
ความเสี่ยงจากการลงทุนในโครงการต่างประเทศล่าสุดของบริษัทอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยโรงไฟฟ้า Jackson ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงนั้นดำเนินงานอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีความเสี่ยงของประเทศและกฎระเบียบที่จัดว่าอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าดังกล่าวจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ตลาดค้าส่งโดยไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ความผันผวนของอุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าและราคาจำหน่ายไฟฟ้าจึงอาจทำให้รายได้และกำไรมีความผันผวนมากกว่าโรงไฟฟ้าในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า Jackson มีสัดส่วนเพียงประมาณ 7% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท ความเสี่ยงด้านการตลาดและราคาเชื้อเพลิงจึงไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัท
– การขยายธุรกิจไปสู่การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล บริษัทขยายกิจการไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership — PPP) กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยมี บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ดำเนินงาน ทั้งนี้ บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทและ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด โครงการซึ่งมีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาทนี้ประกอบด้วยงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (งานขุดลอกและถมทะเล) และงานก่อสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว บริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทนปีละประมาณ 1 พันล้านบาทจาก กนอ. เป็นเวลา 30 ปีหลังจากงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จซึ่งกำหนดไว้ในปี 2567
นอกจากโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 แล้ว บริษัทยังกำลังพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งมีกิจการร่วมค้าจีพีซี (GPC) เป็นผู้ดำเนินการอีกด้วย โครงการดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และกิจการร่วมค้า GPC ซึ่งประกอบด้วยบริษัท รวมทั้ง บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ China Harbour Engineering Co., Ltd. (CHEC) มีหน้าที่ในการออกแบบ ก่อสร้าง และดำเนินการในส่วนของท่าเรือ F1 และ F2 โครงการดังกล่าวนี้มีความเสี่ยงในด้านการตลาดเนื่องจากผลการดำเนินงานจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์ในการขนส่งสินค้า ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมทุนบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลจากกิจการร่วมค้าดังกล่าว ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะพยายามลดความเสี่ยงด้านอุปสงค์ลงให้มากที่สุดเมื่อพิจารณาจากนโยบายของบริษัทที่เน้นการลงทุนในโครงการที่สร้างผลกำไรคงที่และมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้
บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการมอเตอร์เวย์จำนวน 2 สาย (สาย M6 และ M81) โดยมีกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BGSR) ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ร่วมกับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ โครงการดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.26 หมื่นล้านบาทเพื่อออกแบบและติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบจัดการจราจร และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ (ระยะที่ 1) รวมถึงดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (ระยะที่ 2) ทั้งนี้ กิจการร่วมค้า BGSR จะไม่มีความเสี่ยงในด้านอุปสงค์ของปริมาณการจราจรเนื่องจากจะได้รับผลตอบแทนการลงทุนแบบคงที่หลังจากโครงการเปิดดำเนินงานในปี 2567 และบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลจากกิจการร่วมค้าดังกล่าว
นอกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว การซื้อหุ้นในสัดส่วน 46.57% ใน INTUCH ยังเปิดทางไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ในธุรกิจด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล โดยการซื้อหุ้นใน INTUCH นั้นไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มรายได้จากเงินปันผลแต่ยังเปิดโอกาสให้บริษัทได้ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีอยู่ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC) และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (THCOM) อีกด้วย ซึ่งดิจิทัลแพลตฟอร์มดังกล่าวอาจช่วยสนับสนุนการขายไฟฟ้าในตลาดกลางหากภาครัฐมีการอนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้โดยตรงในอนาคต เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้ทำการปรับโครงสร้างการถือหุ้นด้วยการซื้อหุ้นในสัดส่วน 41.1% ใน THCOM จาก INTUCH ที่มูลค่า 4.5 พันล้านบาท
ในการนี้ บริษัทจะได้รับเงินปันผลพิเศษจำนวนประมาณ 2 พันล้านบาทจาก INTUCH ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนสุทธิลดลงเป็น 2.4 พันล้านบาท บริษัทได้รวมผลการดำเนินงานของ THCOM เข้ามาในงบการเงินของบริษัทตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 และได้ทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลืออยู่ทั้งหมดของ THCOM โดยทริสเรทติ้งคาดว่าจะไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดขายหุ้น THCOM ให้แก่บริษัทเมื่อพิจารณาจากราคาเสนอซื้อที่ค่อนข้างต่ำ
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ร่วมกับ Singapore Telecommunications Ltd. (SINGTEL) เพื่อร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) และร่วมกับกลุ่ม Binance (BINANCE) เพื่อร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย ความร่วมมือกันดังกล่าวน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งยังไม่ได้รวมความเป็นไปได้ทางธุรกิจดังกล่าวไว้ในประมาณการในครั้งนี้
– สภาพคล่องจะยังคงบริหารจัดการได้ ณ เดือนกันยายน 2565 บริษัทมีวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมกันจำนวนประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท โดยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่บริษัทต้องชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดรวมกันที่จำนวน 2.46 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างเหมาะสม
บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนไม่ให้เกิน 3.5 เท่าตามข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ โดยอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัท ณ เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 1.9 เท่า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาประมาณการ
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
– กำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าที่คิดตามสัดส่วนการลงทุนและเปิดดำเนินงานแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,700 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า
– รายได้จากการดำเนินงานรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.15 แสนล้านบาทในปี 2568
– อัตราส่วน EBITDA Margin จะทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 30% ในช่วงปี 2566-2568
– เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 2-4 หมื่นล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทที่เปิดดำเนินงานแล้วจะผลิตไฟฟ้าได้อย่างราบรื่นและสร้างกระแสเงินสดได้ตามแผน ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินงานได้ตามกำหนดการ อีกทั้งแผนการเติบโตของบริษัทจะไม่ทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ของบริษัทล่าช้าไปจากกำหนดการอย่างมีนัยสำคัญจนกระทบต่อกระแสเงินสดที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การลงทุนขนาดใหญ่โดยการก่อหนี้จนทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตได้ ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ระดับเกินกว่า 8 เท่าอย่างมากและต่อเนื่องอาจส่งผลต่ออันดับเครดิตได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ม.ค. 66)
Tags: GULF, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, ทริสเรทติ้ง