เครดิต สวิส ชี้ช่องลงทุนดอลลาร์-บอนด์เกรดดีสร้างยีลด์สูง ตุนหุ้นจีนรับเปิดประเทศ

นายวิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ Vice President Investment Consultant บล.เครดิต สวิส (ประเทศไทย) ให้มุมมองภาพรวมการลงทุนในปี 66 แรงกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึมซับไปค่อนข้างมาก และมองว่าเป็นช่วงเข้าใกล้โค้งสุดท้ายของการปรับขึ้นที่ใกล้แตะจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งเป็นระดับที่ทางเฟดสามารถควบคุมเงินเฟ้อของสหรัฐได้ตามเป้าหมาย แม้ว่าจะยังมีความเสี่ยงการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ และจะส่งผลกระทบมาถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวลงได้เช่นกัน แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากการกลับมาเปิดประเทศของจีนที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกได้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชียที่จะได้รับอานิสงส์ค่อนข้างมาก

ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มเห็นการกลับข้างมาอ่อนค่าลงบ้าง หลังจากตลาดซึมซับปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไปมากแล้ว และในปี 65 มีเงินไหลเข้าไปในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมาก เพราะเป็นสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนดี โดยเฉพาะการฝากเงินในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ให้อัตราดอกเบี้ยในระดับสูงกว่าประเทศอื่นๆ

แต่ในปีนี้มองว่าสกุลเงินหลักของโลกที่เคยอ่อนค่าเมื่อปีก่อน ได้แก่ ยูโร และเยน จะกลับมาแข็งค่า จากการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เริ่มให้สัญญาณการกลับข้างในการดำเนินนโยบายการเงินที่จะเข้มงวดมากขึ้น และอาจเห็นการเริ่มกลับมาขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ค่าเงินเยนจะกลับมาแข็งค่า

อย่างไรก็ตามทาง เครดิต สวิส ยังมองว่าการฝากเงินในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังถือเป็นสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนที่สูงอยู่ในปีนี้ ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยที่ 4.4% ต่อปี ขณะเดียวกันการลงทุนในในตราสารหนี้ Investment Grade ยังให้อัตราผลตอบแทนที่ดี และมีความเสี่ยงต่ำหากเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งการลงทุนในตราสารหนี้ Investment Grade ในสหรัฐฯและเอเชียในปี 66 คาดว่าจะให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 5% ต่อปี

นอกจากนี้ อีกประเภทของตราสารหนี้ที่คาดว่าให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงถึง 5.5% ต่อปี คือ ตราสารหนี้ประเภท CoCo Bond ในยุโรป ซึ่งถือเป็นตราสารหนี้ระดับ Investment Grade ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และยังคงได้รับอานิสงส์บวกจากการที่ ECB เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

แต่การลงทุนย่อมเผชิญกับความผันผวนระหว่างทางได้เสมอ ทำให้มองว่ากลยุทธ์ในการป้องกันความเสี่ยง คือ การกระจายการลงทุนไปยังตลาดหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ให้เงินปันผลสูง เนื่องจากมีความผันผวนของราคาค่อนข้างต่ำ และให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเข้ามาช่วยป้องกันและชดเชยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในกลุ่ม Health care ที่ยังมีความน่าสนใจ

ขณะเดียวกันการลงทุนใน Private Market ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการปล่อยกู้โดยตรงให้กับธุรกิจ ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรูปแบบของดอกเบี้ยแบบลอยตัว อย่างเช่น การลงทุนใน Private Debt ที่ให้เงินกู้ยืมโดยตรงกับธุรกิจ ซึ่งสามารถลงทุนได้ในรูปแบบของตราสารหนี้

สำหรับการลงทุนประเภทธีม (Themetics) ในปี 66 มองว่าหุ้นจีนจะได้รับอานิสงส์บวกจากการเปิดประเทศ ยังมีโอกาสคว้าอัพไซด์ได้ถึง 13% หลังจากที่ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก และการกลับตัวขึ้นมาของหุ้นจีนถือว่าเป็นไปค่อนข้างเร็วหลังจากกลับมาเปิดประเทศ เนื่องจากความเชื่อมั่นในการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การบริโภค การลงทุน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของจีนที่จะออกมาผลักดันเศรษฐกิจ ทำให้จีนกลับมามีความโดดเด่นอีกครั้ง ยังให้น้ำหนัก Overweight

ส่วนธีมการลงทุนที่เป็นระยะยาวมองว่าทางเลือกในธีมด้าน Climate Change มีโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ เพราะหลายประเทศต่างให้ความสำคัญในการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ซึ่งเห็นการขับเคลื่อนการลงทุนในพลังงานทดแทนอย่างจริงจังของประเทศขนาดใหญ่ อย่าง สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ซึ่งสร้าง Momentum เข้ามาหนุนให้สามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาว 5-10 ปีได้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ม.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top