ZoomIn: ดีเซลลดหนุนเศรษฐกิจฟื้น สวนทางธุรกิจปั๊มฟุบ กดดันค่าการตลาด OR-PTG-BCP

หลังจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เคาะปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลง 0.50 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ 34.50 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.66 เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่ 1 พ.ค.65 ที่ได้มีการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันไดเป็น 32 บาทต่อลิตร ตามมาด้วยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 35 บาทต่อลิตร จากนั้นราคาน้ำมันก็อยู่ในระดับค้างฟ้าที่ 34.94 บาทต่อลิตร ตั้งแต่เดือน ก.ค.65 จนถึงปัจจุบัน เป็นไปตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคธุรกิจถ้วนหน้า โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงต้นทุนที่ส่งผ่านมายังประชาชน ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

การปรับลดราคาดีเซลในประเทศเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนนี้ เป็นไปตามราคาน้ำมันดิบโลก แม้จะยังอยู่ในระดับสูง แต่ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีว่าภาครัฐน่าจะมีการพิจารณาปรับลดราคาขายลงอีกหากราคาในตลาดโลกปรับลง ซึ่งจะช่วยลดภาระของภาคธุรกิจ และประชาชนได้อีกมาก และยังมีปัจจัยหนุนจากการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติปรับอัตราภาษีลดลงประมาณ 5 บาท/ลิตรต่อไปอีก4 เดือนสิ่นสุด 20 พ.ค.66 จึงส่งผลให้การบริหารจัดการสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น

*ดีเซลลงหนุนภาพรวมเศรษฐกิจ แต่เป็นลบต่อธุรกิจปั๊ม

ราคาดีเซลเปลี่ยนแปลงมีผลต่อต้นทุนแค่ไหน? หากย้อนดูต้นทุนพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในปีที่ผ่านมา พบว่าราคาน้ำมันดีเซลเป็นส่วนหลักของต้นทุนค่าขนส่ง และต้นทุนสินค้า แต่น้ำมันไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดของต้นทุนการผลิต และมีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าแต่ละรายการไม่เท่ากัน โดยรวมถือว่ามีผลน้อยมาก ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกๆ 0.50 บาทต่อลิตร จะมีผลต่อต้นทุนสินค้าเพียง 0.0002-0.08% กรณีปรับขึ้นทุก 1 บาทต่อลิตร จะมีผลต่อต้นทุนสินค้า 0.0004 -0.15%

นายปรินทร์ นิกรกิตติโกศล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า การลดลงของน้ำมันดีเซล 0.50 บาทต่อลิตร มองเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม โดยเฉพาะต้นทุนของค่าขนส่งต่างๆ ลดลง เป็นผลบวกต่อหุ้นในกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ ที่เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับอานิสงส์

แต่ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหน้าปั้ม เพราะค่าการตลาดไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้ และจะยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง หากดูสถานีบริการน้ำมันในประเทศที่มีการขายน้ำมันดีเซลมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ก็คือ ปั๊มน้ำมัน PT ของบมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) รองลงมาคือ ปั๊มบางจาก ของบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และปั๊มน้ำมัน PTT Station ของบมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.พ. 66)

Tags: , , ,
Back to Top