เลือกตั้ง’66: กกต.ประกาศแนวทางแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ 400 เขต

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด 3 รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดใช้เป็นแนวทางดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.สำหรับการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปครั้งแรก ดังนี้

– สำหรับจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมากกว่า 1 คน ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งภายใน 3 วัน โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน แล้วประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งแต่ละรูปแบบต้องประกอบด้วย

(1) รายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอ หรือตำบล หรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งแต่ละเขต

(2) จำนวนราษฎรของแต่ละเขตเลือกตั้ง และผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส.หนึ่งคนในจังหวัดนั้น ทั้งนี้ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ควรเกิน 10% ของจำนวนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคนในจังหวัดนั้น เว้นแต่เป็นกรณีมีความจำเป็นเพื่อให้ราษฎรในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสามารถเดินทางได้โดยสะดวก

(3) เหตุผลประกอบการเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง

(4) แผนที่แสดงรายละเอียดของพื้นที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งแต่ละเขตเลือกตั้ง

ในกรณีที่จังหวัดใดมีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 และมีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส.หนึ่งคนในจังหวัดนั้นไม่เกินจำนวนผลต่างที่กำหนดไว้ใน (2) ให้จัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ที่ใช้ในการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปเมื่อปี 2562 และประกาศรับฟังความคิดเห็นในการแบ่งเขตเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ ให้ปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้ให้รวมถึงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต และศาลาว่าการเมืองพัทยาด้วย และให้เผยแพร่ในเว็บไชต์ซองสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

ส่วนจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งหนึ่งคนให้ดำเนินการปิดประกาศเขตเลือกตั้ง ส.ส.ไว้ ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล และให้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.พ. 66)

Tags: , ,
Back to Top