In Focus: ส่องบทบาทใหม่ของจีน หลังเสนอเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน

ปัญหาขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนซึ่งรุนแรงถึงขั้นใช้กำลังกันนั้นเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกมานานนับปีแล้ว แม้จะมีความพยายามหลายต่อหลายครั้งเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง ทว่าความรุนแรงก็ยังคงปรากฏให้เห็น ส่งผลให้หลายชีวิตต้องสูญเสียและเศรษฐกิจได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง

หลาย ๆ ประเทศได้พยายามเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหานี้ ซึ่งที่เด่นชัดที่สุดน่าจะเป็นตุรกี แต่ก็ยังดูไม่คืบหน้าเท่าที่ควรเพราะจนถึงขณะนี้สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยังดูไม่มีแววคลี่คลาย

สงครามดังกล่าวเพิ่งครบรอบหนึ่งปีไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยล่าสุดมีมหาอำนาจของโลกอย่างจีนเสนอตัวเข้ารับหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนี้ จีนซึ่งงดออกเสียงประเด็นดังกล่าวมาเป็นเวลานาน ได้เสนอแผนการ 12 ข้อเพื่อยุติปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นหนทางสู่สันติภาพอย่างยั่งยืน

In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาผู้อ่านไปส่องแผนการดังกล่าวของจีน ไปจนถึงกระแสตอบรับจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องและประชาคมโลก เพื่อวิเคราะห์ว่า แผนการดังกล่าวจะเป็นหนทางที่ทำให้รัสเซียและยูเครนเลิกทำสงครามกันได้หรือไม่

 

*บทพิสูจน์ผู้นำจีนต่อวิกฤตยูเครน

เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทรวงการต่างประเทศจีนได้เผยแพร่ข้อเสนอ 12 ข้อเพื่อยุติการสู้รบ

ข้อเสนอของจีนทำให้ทุกสายตาจับจ้องไปยังประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ซึ่งจะมารับบทบาทปลดชนวนสงครามยูเครน โดยที่ผ่านมาผู้นำโลกหลายคนไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส หรือประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี ต่างก็ได้เคยเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพในยูเครน

ข้อเสนอทั้ง 12 ข้อดังกล่าวมีดังนี้

1. เคารพอธิปไตยของทุกประเทศ

2. เลิกคิดแบบสงครามเย็น

3. ยุติการสู้รบ

4. เดินหน้าเจรจาสันติภาพ

5. แก้วิกฤติมนุษยธรรม

6. ปกป้องพลเรือนและเชลยศึก

7. ปกป้องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้พ้นภัย

8. ลดความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์

9. อำนวยความสะดวกในการส่งออกธัญพืช

10. เลิกคว่ำบาตรฝ่ายเดียว

11. รักษาเสถียรภาพห่วงโซ่อุตสาหกรรมและซัพพลายเชน

12. ส่งเสริมการฟื้นฟูหลังความขัดแย้งสิ้นสุด

 

แผนการ 12 ข้อดังกล่าวเป็นความพยายามล่าสุดของจีนในการเสนอตัวเองเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ขณะที่จีนพยายามรักษาสมดุลในการรักษาความสัมพันธ์กับรัสเซียไปพร้อม ๆ กับชาติตะวันตก โดยเอกสารจากจีนระบุว่า “ความขัดแย้งและสงครามไม่ให้ประโยชน์ต่อฝ่ายใด ทุกฝ่ายต้องมีเหตุผลและรู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่จุดประเด็นและทวีความตึงเครียด และไม่ทำให้วิกฤติรุนแรงมากขึ้นหรือถึงขั้นควบคุมไม่ได้”

อย่างไรก็ดี ท่าทีของจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะจีนไม่ได้ใช้คำที่สะท้อนให้เห็นสถานการณ์จริง ๆ ในวิกฤติดังกล่าว เช่น จีนไม่ได้เอ่ยถึงกรณีที่รัสเซีย “รุกราน” ยูเครน ขณะที่จีนเองก็ให้การสนับสนุนรัสเซียในทางการทูตและเศรษฐกิจด้วย

นอกจากนี้ บางฝ่ายยังมองว่าจีนเข้าข้างรัสเซีย เพราะก่อนที่จีนจะเผยแพร่ข้อเสนอดังกล่าว จีนเคยพบปะกับฝ่ายรัสเซียมาแล้ว แต่ไม่เคยทำแบบเดียวกันกับฝ่ายยูเครนเลย

เมื่อดูในรายละเอียดแล้ว ข้อเสนอเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นคำที่ทางการจีนมักใช้เป็นประจำเพื่อวิจารณ์สหรัฐ เช่น เคารพอธิปไตยของทุกประเทศ เลิกคิดแบบสงครามเย็น หรือเลิกคว่ำบาตรฝ่ายเดียว โดยทางการจีนมองว่าสหรัฐเป็นตัวการที่ทำให้โลกปั่นป่วนเพราะออกตัวสนับสนุนยูเครนชัดเจน ขณะที่การเรียกร้องให้ยุติการสู้รบดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ต่อรัสเซียมากกว่า เพราะการหยุดยิงจะทำให้ทหารรัสเซียที่ยึดครองดินแดนบางส่วนของยูเครนอยู่แล้วมีโอกาสประจำการอยู่ในดินแดนที่ยึดครองต่อไปได้

ด้านฝ่ายที่สนับสนุนจีนมองว่า การที่จีนเลือกที่จะไม่ประณามรัสเซียด้วยการใช้คำว่า “รุกราน” นั้น ทำให้จีนเป็นตัวกลางที่มีความเป็นกลางชัดเจนในการแก้ไขวิกฤติดังกล่าว โดยประเทศมหาอำนาจอย่างจีนมีแต่จะได้ประโยชน์หากรัสเซียและยูเครนเลิกทำสงครามกันได้

องค์กรมันสมองแห่งหนึ่งในจีนมองว่า หากจีนทำให้สงครามดังกล่าวสิ้นสุดได้จริงอย่างที่มหาอำนาจรายอื่น ๆ ทำไม่ได้แล้ว ภาพลักษณ์ชื่อเสียงของจีนก็จะไปถึงระดับที่ไม่มีใครเทียบได้ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยตัวกลางที่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง หรือไม่ก็รัสเซียและยูเครนต้องเผชิญหน้ากันจนต่างฝ่ายต่างรู้สึกหมดแรงไปเองถึงจะหันหน้าพูดคุยกันได้ ซึ่งคงไม่มีฝ่ายใดอยากให้สถานการณ์รุนแรงจนถึงขั้นนั้น

 

*ท่าทีจากรัสเซียและยูเครน

หลังจากที่จีนได้เผยแพร่ข้อเสนอเหล่านี้ได้ไม่นาน รัสเซียก็ได้ออกมาขานรับข้อเสนอดังกล่าว และออกตัวเปิดกว้างสำหรับการหาข้อยุติผ่านแนวทางการทูตและการเจรจา

นางมาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า “เราขอชื่นชมความจริงใจของจีนในการแก้ไขความขัดแย้งในยูเครนผ่านแนวทางสันติ” อย่างไรก็ดี นางซาคาโรวาระบุว่า สิ่งนี้หมายความว่าจะต้องมีการยอมรับความเป็นจริงเกี่ยวกับดินแดนใหม่ในยูเครน ซึ่งรวมถึงการผนวกแคว้นโดเนตสก์ ลูฮันสก์ เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย รวมทั้งคาบสมุทรไครเมีย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

ด้านประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ขานรับแนวคิดเกี่ยวกับข้อเสนอของจีนในการเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติสงครามในยูเครน โดยกล่าวว่า “หากแนวคิดของข้อเสนอดังกล่าวสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ เกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดน ก็ขอให้เราร่วมมือกับจีนในจุดนั้น”

อย่างไรก็ดี ปธน.เซเลนสกียืนกรานว่าจะไม่ยอมรับข้อเสนอที่ไม่รวมถึงการถอนกำลังทหารรัสเซียทั้งหมดออกจากยูเครน

นอกจากนี้ ปธน.เซเลนสกียังเตือนจีนมิให้ส่งอาวุธให้แก่รัสเซียเพื่อใช้ในการสู้รบกับยูเครนด้วย

 

*เสียงตอบรับจากสหรัฐ

แม้ข้อเสนอดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหารัสเซีย-ยูเครน แต่สหรัฐมองว่าลักษณะภาษาที่ใช้นั้นพุ่งเป้ามาที่สหรัฐและชาติตะวันตกโดยตรง โดยนอกเหนือจาก “เคารพอธิปไตยของทุกประเทศ” “เลิกคิดแบบสงครามเย็น” หรือ “เลิกคว่ำบาตรฝ่ายเดียว” แล้ว ข้อเสนอของจีนยังมีข้อความบรรยายประกอบด้วยว่า “ความมั่นคงปลอดภัยของภูมิภาคไม่ได้เป็นผลจากการเสริมกำลังหรือขยายกลุ่มทางทหาร ผลประโยชน์และข้อกังวลด้านความมั่นคงที่ชอบธรรมตามกฎหมายของทุกประเทศจะต้องได้รับการดำเนินการอย่างจริงจังและได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม” ซึ่งสหรัฐมองว่าเข้าข้างรัสเซียอย่างชัดเจนเพราะเป็นจุดยืนเดียวกันกับที่รัสเซียพยายามบอกทั้งโลกเสมอมา

นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ได้ออกมาวิจารณ์ข้อเสนอดังกล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน “จะจบลงพรุ่งนี้เลยก็ได้ถ้ารัสเซียหยุดโจมตียูเครนและถอนทหารออกไปสักที”

นายซัลลิแวนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า “ปฏิกิริยาแรกของผมตอนเห็นข้อเสนอดังกล่าวคือแค่ข้อแรกก็หยุดสงครามได้แล้ว นั่นคือการเคารพอธิปไตยของทุกประเทศ” และเสริมว่า “ยูเครนไม่ได้โจมตีรัสเซีย นาโตไม่ได้โจมตีรัสเซีย สหรัฐก็ไม่ได้โจมตีรัสเซีย นี่เป็นสงครามที่ปธน.ปูตินเลือกให้เกิดขึ้นเอง”

นอกจากนี้ นายซัลลิแวนยังเตือนว่า ถ้าจีนเลือกจะเดินทางนั้น (สนับสนุนรัสเซีย) ก็จะต้องชดใช้ด้วยราคาแพง พร้อมย้ำว่า สหรัฐไม่มีหลักฐานว่า จีนส่งมอบ “อาวุธร้ายแรง” ให้กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียเพื่อใช้ทำสงคราม

 

*กระแสตอบรับจากชาติตะวันตก

นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้ออกมาแสดงความไม่เชื่อมั่นทันที หลังจีนเสนอตัวเป็นคนกลางเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติสงครามในยูเครน

“จีนไม่มีความน่าเชื่อถือมากนัก เนื่องจากพวกเขาไม่เคยประณามรัสเซียที่ทำการรุกรานอย่างผิดกฎหมายต่อยูเครน และพวกเขาได้ลงนามกับรัสเซียก่อนการโจมตี โดยระบุว่าจะเป็นหุ้นส่วนที่ไร้ขีดจำกัดกับรัสเซีย” นายสโตลเทนเบิร์กกล่าว

นอกจากนี้ นายสโตลเทนเบิร์กกล่าวก่อนหน้านี้ว่า นาโตเห็นสัญญาณบ่งชี้ว่าจีนกำลังพิจารณาที่จะจัดส่งยุทโธปกรณ์ให้แก่รัสเซียเพื่อใช้ในการสู้รบกับยูเครนด้วย

นางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้แสดงความคิดเห็นในทำนองเดียวกัน โดยมองว่าจีนเลือกข้างอยู่แล้ว ขณะที่ทางการเยอรมนีมองว่า ข้อเสนอดังกล่าวยังขาดองค์ประกอบสำคัญอยู่ นั่นคือการเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครน ไม่ใช่แค่หยุดยิงอย่างเดียว โดยหากจีนต้องการให้ตนเองเป็นกลางจริง ๆ แล้ว จีนควรหารือกับยูเครนในประเด็นเหล่านี้ด้วย

 

*รัสเซียกลับลำ

แม้ตอนเริ่มแรกทางการรัสเซียได้ออกมาตอบรับข้อเสนอดังกล่าวของจีน แต่ล่าสุดเมื่อวานนี้ทำเนียบเครมลินของรัสเซียได้ออกมาปัดข้อเสนอดังกล่าว โดยอ้างว่าขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาเหมาะสมในการปฏิบัติตามแผน 12 ข้อ

นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินของรัสเซียกล่าวว่า “เราได้ดูแผนการของสหายชาวจีนอย่างตั้งใจแล้ว” แต่สถานการณ์ต่าง ๆ ยังไม่เอื้อให้รัสเซียเดินหน้าตามแผนสันติภาพได้

 

ทั้งนี้ ปัญหาขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้กลายเป็นปัญหาตึงเครียดที่ส่งผลกระทบไปทั้งโลก แผนการ 12 ข้อของจีนในการยุติสงครามดังกล่าวถือเป็นแนวทางหนึ่งที่อาจทำให้รัสเซียและยูเครนหันหน้าพูดคุยและเจรจาสันติภาพกันได้ อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของข้อเสนอเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของทุกฝ่ายในการเจรจาและยอมอ่อนข้อ เป็นที่ชัดเจนว่าข้อเสนอดังกล่าวมีเสียงตอบรับแตกต่างกัน บางประเทศชื่นชม ขณะที่บางประเทศเคลือบแคลงสงสัย แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ควรมีผู้นำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง และทุกฝ่ายควรหันหน้าพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ

ท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนคนธรรมดาคือผู้ที่เดือดร้อนจากปัญหานี้มากที่สุด สันติภาพจึงเป็นเรื่องที่ควรบังเกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและประเทศชาติมั่นคงปลอดภัย โดยประชาคมโลกมีหน้าที่สนับสนุนทุกความพยายามที่มีเพื่อให้โลกสงบสุขและทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นสำหรับทุกคน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มี.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top