สภาคองเกรสรุมซักฟอกซีอีโอ TikTok ชี้เผยแพร่คอนเทนต์อันตรายต่อเยาวชน

สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐรุมสอบนายโจว โซ่วจือ ซีอีโอของติ๊กต๊อก (TikTok) เมื่อวานนี้ (23 มี.ค.) โดยกล่าวหาว่าแอปติ๊กต๊อกแสดงเนื้อหาที่อาจก่อ “ความทุกข์ทรมานใจ” ต่อผู้ใช้ที่เป็นเยาวชน โดยเป็นความพยายามกดดันให้รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แบนแอปดังกล่าวในสหรัฐ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในระหว่างการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการของสภาคองเกรส นางแคธี แมคมอร์ริส ร็อดเจอร์ส สส.พรรครีพับลิกันจากรัฐวอชิงตัน เปิดฉากด้วยการกล่าวกับนายโจวว่า หลังสร้างบัญชีบนติ๊กต๊อกเสร็จไปแล้วเพียงไม่กี่นาที อัลกอริทึมของแอปก็จะแสดงเนื้อหาที่ส่งเสริมการทำร้ายตัวเองและพฤติกรรมการกินอาหารแบบผิดปกติ ตลอดจนสนับสนุนให้ทำชาเลนจ์อันตรายที่อาจทำให้ชีวิตเด็กตกอยู่ในความเสี่ยง

ด้านนายโจวซึ่งเข้าชี้แจงต่อสภาคองเกรสเป็นครั้งแรกกล่าวว่า ผู้ใช้ติ๊กต๊อกส่วนใหญ่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ทางบริษัทฯ ก็ได้ออกมาตรการปกป้องผู้ใช้ที่เป็นเยาวชนด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี สมาชิกสภาคองเกรสจากทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันได้ตั้งคำถามกับนายโจวว่า รัฐบาลจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานชาวอเมริกันได้หรือไม่ และติ๊กต๊อกจะห้ามมิให้เยาวชนเข้าถึงเนื้อหาอันตรายได้อย่างไร

นายบ๊อบ แลตตา สส.พรรครีพับลิกันจากรัฐโอไฮโอเล่าถึงกรณีเด็กหญิงวัย 10 ขวบที่เสียชีวิตจากการร่วมเล่น “blackout challenge” ซึ่งเป็นการท้าให้อัดคลิปรัดคอตัวเองจนเกือบหมดสติลงติ๊กต๊อก นายแลตตากล่าวว่าติ๊กต๊อกไม่ควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมาตรา 230 แห่งรัฐบัญญัติว่าด้วยการสื่อสารที่เหมาะสมปี 1996 ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองให้แพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้งานแพลตฟอร์มนั้น ๆ

ด้านนายโจวตอบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่อง “น่าสะเทือนใจ” และติ๊กต๊อกไม่อนุญาตให้มีชาเลนจ์ที่อันตรายเช่นนั้น

อนึ่ง ติ๊กต๊อกถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเป็นเวลานานแล้วว่าไม่ได้ตรวจสอบเนื้อหาในแอปมากพอ โดยเอโค่ (Eko) ซึ่งเป็นกลุ่มเรียกร้องความรับผิดชอบจากบริษัทต่าง ๆ เปิดเผยผลการวิจัยว่า แฮชแท็กในติ๊กต๊อกที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายนั้นมีจำนวนมากกว่าล้านโพสต์และมียอดวิวรวมสูงถึง 8.8 พันล้านวิว

ก่อนหน้านี้ ติ๊กต๊อกได้เปิดตัวเครื่องมือต่าง ๆ ที่อนุญาตให้ผู้ปกครองสามารถควบคุมการใช้งานติ๊กต๊อกของบุตรหลานได้ และในเดือนมี.ค.นี้เอง ติ๊กต๊อกเปิดเผยว่า กำลังเริ่มพัฒนาฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถบล็อกวิดีโอที่มีการใช้คำหรือแฮชแท็กที่ผู้ปกครองไม่อยากให้บุตรหลานเห็น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 66)

Tags: ,
Back to Top