โครงการฟอเรสต์ ซิตี (Forest City) ของบริษัท คันทรี การ์เดน (Country Garden) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับจุดผ่านแดนจุดที่สองระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง นับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มทรงตัวในปี 2565
ชยารุล อิซาม รองประธานของฟอเรสต์ ซิตี กล่าวว่า เนื่องจากจำนวนผู้มาเยือนจากต่างประเทศกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฟอเรสต์ ซิตี จะยังคงเดินหน้าพัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิม ตลอดจนสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานบันเทิงเพิ่มเติมเพื่อสรรค์สร้างประสบการณ์อันดื่มด่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการใช้ชีวิตริมชายฝั่ง ณ เส้นขนานที่ 1 องศาเหนือ ซึ่งทำให้ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระยะสั้นที่ได้รับความนิยมและมีเอกลักษณ์มากมายที่โดดเด่นไม่เหมือนที่อื่นใด
ฟอเรสต์ ซิตี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ของมาเลเซีย ได้รับความนิยมอย่างมากนับตั้งแต่เปิดให้บริการแก่สาธารณชนเมื่อปี 2559 ชุมชนแห่งนี้เป็นเมืองอัจฉริยะแบบบูรณาการและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งร่วมกันพัฒนาและดำเนินการโดยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างคันทรี การ์เดน และบริษัทในเครือของรัฐบาลรัฐยะโฮร์ การที่นิตยสารชั้นนำระดับโลกอย่างฟอร์บส ยกย่องให้คันทรี การ์เดน เป็นหนึ่งใน “5 เมืองใหม่ที่จะเขย่าอนาคต” นับว่าเป็นหลักฐานความสำเร็จของโครงการนี้
ฟอเรสต์ ซิตี ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นขนานที่ 1 องศาเหนือ มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันโดดเด่นและมีสภาพอากาศที่ดี ภายในโครงการมีกำแพงสีเขียวแนวตั้ง สวนลอยฟ้า และระบบสวนบนดาดฟ้าที่ถักทอทั่วทั้งเมือง ฟอเรสต์ ซิตี จึงสร้างพื้นที่สีเขียวแนวนอนครอบคลุมพื้นที่มากถึง 2.86 ล้านตารางเมตร และยังมีพื้นที่สีเขียวแนวตั้งอีกประมาณ 256,000 เมตร
ปัจจุบัน ฟอเรสต์ ซิตี ได้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครอบคลุมพื้นที่แล้วประมาณ 4 ล้านตารางเมตร และสร้างถนนเสร็จแล้วเกือบ 36 กิโลเมตร โดยเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในโครงการมาจากกว่า 40 ประเทศและดินแดน รวมถึงจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เป็นต้น
ถนนคอมเมอร์เชียลสตรีท (Commercial Street) และหาดมารินาบีช (Marina Beach) ของฟอเรสต์ ซิตี เป็นสถานที่จัดกิจกรรมที่หลากหลายในทุก ๆ เดือน เช่น การเปิดท้ายขายของ สวนสาธารณะสำหรับสัตว์เลี้ยง และปาร์ตี้ฮาโลวีน เป็นต้น ทำให้เป็นจุดหมายปลายทางวันหยุดสุดสัปดาห์สำหรับผู้คนในท้องถิ่น นอกจากนี้ ในฤดูร้อนปี 2565 สวนน้ำได้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนยอดนิยมสำหรับผู้พักอาศัยและคนในท้องถิ่น โดยเจ้าหน้าที่บริหารของเมืองเปิดเผยว่า สถิติการขายตั๋วบ่งชี้ว่า ฟอเรสต์ ซิตี ดึงดูดผู้มาเยือนมากกว่า 3,000 คนต่อเดือนโดยเฉลี่ยในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมปีที่แล้ว ส่วนในช่วงปิดเทอมในเดือนกันยายนนั้น สวนน้ำดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากกว่า 6,000 คน
กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีนได้ออกคำสั่งนำร่องให้ชาวจีนเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศแบบหมู่คณะได้ในบางประเทศ หนึ่งในนั้นคือมาเลเซีย ซึ่งมีการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลัก มาเลเซียได้กลับมาเปิดการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของมาเลเซียก็ตั้งตารอคอยและต้อนรับการมาถึงของนักท่องเที่ยวชาวจีน
จาง หลี่ รองกงสุลใหญ่จีนประจำปีนัง ระบุว่า ปี 2566 เป็นวาระครบรอบ 10 ปีของการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้านจีน-มาเลเซีย และปีหน้าจะเป็นวาระครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-มาเลเซีย ในโอกาสนี้ จีนได้แสดงความเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับมาเลเซียเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีขึ้นไปสู่ระดับใหม่ ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรมของมาเลเซีย คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนมาเลเซียจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยตั้งเป้าต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวน 5 ล้านคนในปีนี้
เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง ฟอเรสต์ ซิตี ได้ขยายขอบเขตการให้บริการเพิ่มเติม รวมถึงการเปิดศูนย์การขนส่งฟอเรสต์ ซิตี (Forest City Transportation Center) ซึ่งเชื่อมสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งทั้งในและนอกเกาะเข้าด้วยกัน และเป็นสถานีปลายทางสำหรับการขนส่งรูปแบบต่าง ๆ ที่วิ่งผ่านทั่วทั้งเมือง นอกจากนั้นยังมีการเปิดศูนย์ตรวจสุขภาพเอ็มเจ (MJ Health Screening Center) รวมถึงร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าปลอดภาษีบนเกาะ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน อีกทั้งยังมีโรงเรียนนานาชาติแชตทัก-เซนต์แมรีส์ ฟอเรสต์ ซิตี (Shattuck-St.Mary’s Forest City International School) ซึ่งให้การศึกษาแก่นักเรียนจากกว่า 10 ประเทศและดินแดน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มี.ค. 66)
Tags: มาเลเซีย, อุตสาหกรรมท่องเที่ยว